บสย. ขานรับ ครม.ไฟเขียว 2 โครงการช่วย SMEs

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.พร้อมเดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs และพร้อมขานรับ นโยบายรัฐบาลในโครงการความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ทันที ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 โครงการวานนี้ (16มิ.ย.) คือ

 

          1.เห็นชอบเงื่อนไข มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการSMEsที่ให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS)  ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยให้มีผลบังคับใช้กับลูกค้าที่ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อ นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการเป็นวงเงินไม่เกิน 875 ล้านบาท

 

          2.เห็นชอบเงื่อนไขโครงการ Policy Loan และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 3,225 ล้านบาท และให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และปีต่อ ๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)และบสย.ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ในรายละเอียด

 

          ทั้งนี้ ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการSMEs ที่เข้าร่วมโครงการ Policy Loan  ของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขประกอบด้วย 1. วงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท 2. วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท 3.ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 5 ปี  4.ค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดอายุ การค้ำประกัน 5 ปี โดยในปีแรก รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทน SMEs ในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน

 

          ส่วนปีที่ 2 และ 3 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทน SMEs ในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน (SMEs รับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเองร้อยละ 1 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน) และในปีที่ 4 และ 5 ผู้ประกอบการ SMEs รับภาระค่าธรรมเนียมเองเต็มจำนวนในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน

 

          นายวัลลภ กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการความช่วยเหลือ SMEs  คือ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก และ โครงการค้ำประกัน Policy Loan ของ SME BANK  จะก่อให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบร่วม 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อในโครงการฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก กว่า 80,000 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกัน Policy Loan กว่า 15,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแน่นอน

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย