ธปท.ขาดทุนสะสม 6 แสนล้านบาท

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ธปท.ได้ออกรายงานประจำปี 57 ซึ่งรายงานฐานะการดำเนินการและฐานะการเงินของ ธปท.ปี 57 พบว่า ธปท.มีสินทรัพย์ 3,527,289.19 ล้านบาท และมีหนี้สิน 4,227,783.27 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินกองทุนติดลบสะสม 700,494.09 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 57 มีรายได้ 59,415.30 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 120,984.77 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 61,569.48 ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 634,471 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากดอกเบี้ยจ่ายที่สูงกว่าดอกเบี้ยรับ โดยปี 57 มีภาระดอกเบี้ยจ่าย 109,575.58 ล้านบาท และมีรายได้จากดอกเบี้ยรับ 47,024.41 ล้านบาท แต่มีกำไรจากค่าเงินบาท 9,442.63 ล้านบาท

 

          ทั้งนี้ ธปท.ชี้แจงว่า การขาดทุนมาจากดำเนินนโยบาย 2 ส่วน คือ 1.การตีราคาค่าเงิน เพราะค่าเงินยูโร และค่าเงินเยนอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ซึ่งเมื่อ ธปท.ตีราคาเงินสองสกุลที่อยู่ในทุน สำรองทางการระหว่างประเทศของไทยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ จึงได้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯน้อยลง ส่งผลให้มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศเมื่อตีราคาเป็นเงินบาทลดลง และ 2.จากส่วนต่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย จากการออกพันธบัตร ธปท.เพื่อปรับสภาพคล่องระบบเศรษฐกิจ ยืนยันว่า การขาดทุน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานแน่นอน

 

          ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาธุรกรรมที่มีการเงินการลงทุนมาเกี่ยวข้อง และเสี่ยงต่อการหลอกลวง หรือทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ในช่วงที่ดอกเบี้ยและผลตอบแทนการลงทุนของไทยต่ำ เช่น แชร์ลูกโซ่ หรือกรณีบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ที่ใช้เงินยูโทเค่น ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตามกฎหมาย หรือธุรกรรมที่ระบุเป็นการลงทุนเพื่อฝากเงินในประเทศเพื่อนบ้าน หรือการหลอกลวงในรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น เป็นต้น เพื่อหามาตรการป้องกัน “ผู้ว่าการ ธปท.ให้ศึกษาปัญหาแชร์ลูกโซ่ว่าบริษัทเหล่านี้ทำอย่างไรให้คนเชื่อ ทั้งที่ไม่มีสินค้า ใช้เงินสมมติที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่บริษัทไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ทีมงาน ธปท.เข้าใจกลไกของปัญหา และหามาตรการป้องกัน เช่น อาจร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงผลตอบแทนการลงทุนต่ำ คงใช้เวลาสักระยะ เพื่อให้เข้าใจและวางแนวทางแก้ไขในอนาคต”.

 

ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์