กกร.ชง 4 ข้อเสนอรัฐช่วยเอกชน ปั๊มหัวใจ “เกษตรกร-ผู้ค้ารายย่อย-เอสเอ็มอี”

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร.ประจำเดือน มิ.ย.ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยช่วง 5 เดือน แรก (ม.ค.-พ.ค.2558) อยู่ในภาวะทรงตัว มีการ ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน ทั้งการลงทุนและการบริโภคยังเปราะบาง ตามความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง

 

          ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังไม่สามารถขับ เคลื่อนเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพ และส่งออก ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แม้หดตัวในอัตรา ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีคือการส่งออกเชิงปริมาณขยายตัวครั้งแรกในเดือน เม.ย. และยอดส่งออกไปจีนกลับเป็นบวก 1.1% ครั้งแรกในรอบปี จากเดิมทั้งปี 2557 ลดลงถึง 11% ขณะที่การท่องเที่ยวยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แสดงว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะเห็นการเติบโตตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เป็นต้นไป

 

           ทั้งนี้ แม้ต้นทุนการเงินของไทยลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงถึง 2 ครั้ง แต่การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน ซึ่งไทยเป็นประเทศขนาดเล็กจึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 มิ.ย.นี้ เอกชนมองว่าแม้ยังมีช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยได้อีก แต่ยัง ไม่เห็นความจำเป็นที่จะลดดอกเบี้ยอีก ควรรอประเมินผลที่ผ่านมาก่อน

 

          นายบุญทักษ์ยังกล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กกร.ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ว่า เอกชนจะนำเสนอใน 4 ประเด็น 1.การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ 2.การขอใช้ที่ดินเขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรมเพื่อตั้งสำนักงานด่านชายแดน ที่ด่านชายแดนสากลห้วยโกร๋น จ.น่าน และจุดผ่านแดน ถาวรภู่ดู่ จ.อุตรดิตถ์ 3.การขอขยายพื้นที่การให้บริการน้ำประปาใน 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา และ 4.การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า ในแนวทางของกระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี

 

          ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นภาษีเครื่องปรับอากาศในรถยนต์นั้น ปัจจุบันผู้ผลิตต้องเสียภาษีไปก่อนและภาครัฐจะคืนเงินย้อนหลังให้ จึงอยากให้ยกเลิกไปเลย ในเมื่อปลายทางคือยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ส่วนประเด็นตั้งสำนักงานด่านชายแดน เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างมีสำนักงานถาวรแต่ไทยกลับไม่มีจุดนี้ ทั้งที่ต้องการพัฒนาให้การค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

          “ผมเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มฟื้นตัว ไม่ได้แย่ เห็นได้จากอัตรา การว่างงานมีเพียง 0.9% ซึ่งถือว่าต่ำมาก แสดงว่าทุกคนยังมีงานทำ แต่ที่ห่วงคือ รายได้ของกลุ่มเกษตรกรที่มีจำนวนมากในประเทศ โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าว ยางพารา ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งยกระดับราคาสินค้าเกษตร และอีกกลุ่มที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบการรายย่อยหรือหาบเร่ แผงลอย จากการสำรวจพบว่ายอดขายลดลงมาก รัฐควรเข้าไปดูว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร”

 

          ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าแนวทางหนึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และเป็นการขยายฐานรายได้ให้ประเทศ คือ การปรับลดอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยคำนวณยอดขาย ควบคู่ไปกับโครงการที่กรมฯจะยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา กกร. โดยสภาหอฯ และ ส.อ.ท.ได้เข้าพบอธิบดีสรรพากร แต่กรมสรรพากรยังไม่เห็นชอบต่อการลดภาษีเอสเอ็มอีตามเอกชนเสนอ แต่ได้เห็นพ้องที่จะให้เอกชนกลับมาจัดทำข้อมูล ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ และเสนอให้กรมสรรพากรพิจารณาอีกครั้ง

 

           “เอกชนขอให้เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทเสียภาษี 5% รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทเสียภาษี 10% และไม่เกิน 150 ล้านบาทเสียภาษี 15% แต่กรมสรรพากรกังวลว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง ขณะที่เอกชนมองว่าจะเป็นการขยายฐานภาษีให้ประเทศมากกว่า ดังนั้น ภายในเดือน มิ.ย.นี้ กกร.จะเร่งทำข้อมูลเพื่อให้กรมสรรพากรพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง”.

 

ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์

รูปภาพ : โพสต์ทูเดย์