ไทยพาณิชย์ ยันศก.ไทยยังไม่เสี่ยงสภาวะเงินฝืด

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

          เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 2015 ที่ระดับ 0.7% และ 1.4% ตามลำดับ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เสี่ยงต่อสภาวะเงินฝืด และจะเริ่มเห็นทิศทางเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปี 2015 แต่หากมองที่การเติบโตแบบรายเดือนปรับฤดูกาล (MOM SA) ของเงินเฟ้อพื้นฐานจะพบว่า เงินเฟ้อพื้นฐานยังขยายตัวได้เล็กน้อย เฉลี่ยที่ระดับ 0.04%MOM SA ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

 

          นอกจากนี้ หากวิเคราะห์จากแหล่งที่มาของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะพบว่า เงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอตัวลงยังคงเกิดจากสินค้าประเภทอาหารซึ่งได้รับ อานิสงส์จากต้นทุนพลังงานที่ถูกลงเท่านั้น ยังไม่มีสัญญาณทางราคาที่น่ากังวลในการบริโภคสินค้าโดยรวม

 

          อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปี 2015 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 1.27%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเหลือเพียง 0.94%YOY จาก 1.02%YOY ในเดือนเมษายน

 

          ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปยังปรับตัวลดลงตามดัชนีพลังงาน ดัชนีราคาพลังงานของเดือนพฤษภาคมปรับตัวลดลงถึง 14.4% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศแตะระดับสูงสุด โดยน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ในช่วงดังกล่าวมีราคาเฉลี่ยสูงถึง 49.2 บาท และ 38.6 บาทต่อลิตร สูงกว่าราคาเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 34 บาท และ 27.2 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ดัชนีพลังงานในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน 95 91 และดีเซลหดตัวลงกว่า 15%YOY ในเดือนพฤษภาคม 2015

 

          นอกจากนี้ การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ลงอีก 9.35 สตางค์ต่อหน่วย ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ดัชนีพลังงานหดตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีพลังงานและดัชนีพลังงานเชื้อเพลิงเบนซิน 95 91 และดีเซล 5 เดือนแรกของปีหดตัวเฉลี่ยที่ 13.5%(YTD) และ 15%(YTD) ตามลำดับ

 

           ขณะ ที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงชะลอตัวต่อเนื่องตามราคาอาหารสำเร็จรูป อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนของอาหารสำเร็จรูปเดือนพฤษภาคมชะลอตัวต่อเนื่อง เหลือเพียง 1%YOY จากระดับ 1.3%YOY ในเดือนเมษายน โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อในส่วนของอาหารปรุงสำเร็จบริโภคนอกบ้านที่ชะลอตัวลง ต่ำกว่าระดับ 2% เป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน สอดคล้องกับต้นทุนการประกอบอาหารจากเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดที่หดตัวต่อกัน เป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ -0.9%YOY ในเดือนพฤษภาคม.

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์