“e-Commerce: โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย”

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

นางสาววีรุทัย กิตติพิพัฒน์ภูติ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

          ในระยะที่ผ่านมา หลายท่านคงเริ่มคุ้นหูกับคําว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital economy) ที่เป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลปัจจุบันใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหัวใจสําคัญของนโยบายนี้ก็คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ากับกระบวนการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับในการแข่งขัน โดยตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคงหนีไม่พ้น“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า e-Commerce ที่เป็นการดําเนินธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการโดยใช้สื่อและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

 

          หากเราจะมองหาต้นแบบของประเทศที่ประสบความสําเร็จในเรื่องของ e-Commerce และเป็นประเทศที่ใกล้กับไทยแล้ว ประเทศจีนถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าศึกษา ว่าทําไมจีนถึงสามารถพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ให้เติบโตจนก้าวสู่ระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว

 

           การใช้คําว่า “ระดับโลก” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะ e-Commerce ของจีนมีการเติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546-2554 มีการเติบโตต่อปีเฉลี่ยสูงถึง 120 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จนทําให้ในปัจจุบัน จีนได้ก้าวกระโดดจนกลายเป็นประเทศที่มียอดการซื้อขายสินค้าออนไลน์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาความสําเร็จนี้ได้นําไปสู่คําถามสําคัญที่ว่า อะไรที่ทําให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นําในด้านการค้าแบบ e-Commerce ของโลกได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

 

          คําตอบของคําถามนี้ก็คือ จีนได้พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” ในด้านต่างๆ เช่น ด้านระบบการขนส่ง การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่การสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาระบบการชําระเงินภายในประเทศ รวมไปถึง การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายและผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โดยในปี 2557 มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในจีนสูงถึง 632 ล้านคน และมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานกว่า 700 ล้านเครื่อง

 

นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับแล้ว ทางด้าน “ผู้ให้บริการ” ก็มีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดย “Alibaba group” ถือเป็นผู้นําในการให้บริการธุรกิจ e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่ง Alibaba ให้บริการระบบการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่เว็บไซต์กลางเพื่อให้ผู้ขายที่มีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยของจีนสามารถติดต่อซื้อขายกับผู้ซื้อได้โดยสะดวกมีการแบ่งแพลตฟอร์มตามประเภทของผู้ซื้อผู้ขายอย่างชัดเจน และยังมี AliExpress.com สําหรับลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศที่สนใจซื้อสินค้าจากจีนอีกด้วย

 

          ไม่เพียงเท่านั้น Alibaba ยังให้บริการในส่วนสนับสนุนอื่นๆ เช่น ด้านขนส่งสินค้า ด้านอินเทอร์เน็ตและซอฟต์แวร์เพื่อธุรกิจ และที่สําคัญที่สุด คือ การมีAlipay ช่องทางการชําระเงินออนไลน์ที่มีความปลอดภัย รวมทั้งมีการกําหนดระบบรับประกันกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่ผู้ขายระบุไว้ซึ่งบริการที่สะดวกและหลากหลายนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้ขายได้เป็นอย่างดี

 

          จะเห็นว่าช่องทาง e-Commerce สามารถช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้สามารถการขายสินค้าได้มากขึ้น โดยไม่ได้จํากัดแต่เฉพาะตลาดในจีนเท่านั้น ยังสามารถขยายโอกาสไปถึงตลาดต่างประเทศได้โดยไม่จําเป็นต้องเปิดหน้าร้านในประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศไทยที่มีผู้ชื้อให้ความสนใจในการซื้อสินค้าออนไลน์จากจีนมากขึ้น ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกด้วยก็คงไม่ผิดนัก นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของจีน ยังทําให้เราได้เห็นประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า การซื้อขายออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่แข่งกับร้านค้าแบบดั้งเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วการเติบโตของ e-Commerceกลับส่งผลดีต่อธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิมด้วย ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะร้านค้าแบบดั้งเดิมจํานวนมากจําเป็นต้องปรับตัว โดยหันมาใช้กลยุทธ์ในการเสนอสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทําให้ร้านค้าแบบดั้งเดิมของตนเองเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย ทําให้การซื้อขายของทั้งสองช่องทางเติบโตขึ้นในทิศทางเดียวกัน

 

           เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ในยุคที่รัฐบาลกําลังผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้าน IT ที่ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้ ถือเป็นโอกาสทองที่จะช่วยให้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และ SMEs สามารถใช้ช่องทาง e-Commerce สร้างโอกาส ขยายตลาดสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการส่งออก เช่น การเป็ดร้านที่มีต้นทุนสูง และการต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง เป็นต้น ซึ่งหากธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ที่มีสัดส่วนเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศใช้ e-Commerce ในการรุกเข้าสู่ตลาดโลกได้ ก็อาจจะเป็นตัวจุดประกายที่สําคัญให้การส่งออกของไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

          แต่การที่ไทยเราจะก้าวไปสู่จุดนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ทุกภาคส่วนสําคัญที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันในการผลักดัน e-Commerce อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องการพัฒนานวัตกรรมและรูปแบบการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และการมีระบบการชําระเงินที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยรองรับ รวมไปถึงการส่งเสริมให้คนไทยมีการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้นด้วยเหล่านี้จะช่วยให้ e-Commerce กลายเป็นช่องทางการค้าสมัยใหม่ที่น่าสนใจของภาคธุรกิจไทย ทั้งการค้าขายภายในประเทศและการค้าขายระหว่างประเทศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

----------------------------------------------------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฺBOT)