ออก 4 มาตการเสริมความเชื่อมั่นระบบสหกรณ์

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสหกรณ์ ว่า  สหกรณ์นั้นเป็นองค์การทางธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีส่วนในการส่งเสริมการออม การเข้าถึงแหล่งทุน และการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน 

 

รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อระบบสหกรณ์ และได้ใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้เข้าถึง การพัฒนาในระดับฐานรากและมุ่งหวังที่จะพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง เป็นที่พึ่งและเสริมสร้างประโยชน์สู่มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง   

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการ แนะนำ กำกับ ดูแล การดำเนินงานของสหกรณ์ ได้ตรวจสอบพบว่า ยังมีสหกรณ์จำนวนหนึ่งที่ยังคงมีข้อบกพร่องในการดำเนินงาน  ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายและกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบสหกรณ์ได้

 

จึงได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสหกรณ์อย่างยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 4 มาตรการ คือ  1) มาตรการป้องกัน แบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นจะเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสหกรณ์ โดยนายทะเบียนสหกรณ์เป็นผู้ออกมาตรการ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการตรวจสอบและแก้ไขกฎหมาย ส่วนมาตรการระยะยาวจะเน้นเรื่องของการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลในสหกรณ์ สร้างความตระหนักรู้ในหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรทุกฝ่ายในสหกรณ์ และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการกำกับดูแล 

 

 2) มาตรการเฝ้าระวัง ดำเนินการกำกับและติดตามต่อเนื่องในสหกรณ์ที่มีการดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ หรือมีสัญญาณบอกเหตุว่าอาจจะเกิดข้อผิดพลาด เช่น สหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำแนะนำ ไม่มีระบบการควบคุมภายใน ซึ่งจะต้องแจ้งเตือนให้สหกรณ์ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องทันท่วงที และหากสหกรณ์ไม่ดำเนินการแก้ไขก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายสั่งให้สหกรณ์ดำเนินการ  3) มาตรการแก้ไขปัญหา จะมีการกำกับดูแลสหกรณ์ที่มีปัญหาข้อบกพร่อง นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขทั้งสหกรณ์ที่เกิดปัญหาแล้ว และสหกรณ์ที่กำลังจะเกิดปัญหา 

 

โดยให้นายทะเบียนสหกรณ์ใช้กระบวน การทางกฎหมายดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเร่งรัดหาผู้รับผิดชอบที่ทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย และ 4) มาตรการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ เพื่อให้เกิดหลักประกันที่มั่นคง และให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในกรณีอาจเกิดวิกฤติการเงิน สหกรณ์สามารถใช้เงินกองทุนนี้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกผู้ฝากเงิน

 

ด้าน นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าวว่า ตามกฏหมายที่จะไปตรวจการสหกรณ์ นั้น  สามารถทำได้ในทุกกิจการที่สหกรณ์ดำเนินการและที่มีข้อสงสัยว่าจะผิดระเบียบและข้อกำหนดของสหกรณ์ ซึ่งในการออกไปตรวจสอบก็จะดำเนินการทั้งแนะนำเพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้อง และแก้ไขในสิ่งที่ผิดไปแล้ว ทั้งนี้การตรวจการสหกรณ์ มิใช่การจ้องจับผิดแต่อย่างใด แต่เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก  

 

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ นับตั้งแต่การจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นแห่งแรก เมื่อปี 2459 จวบจนถึงปัจจุบันมี จำนวน 8,161 สหกรณ์ สมาชิก 11.27 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวม 2.25 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 16.48 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งนับว่าระบบสหกรณ์นั้นมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนให้ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน.

 

ที่มา : เดลินิวส์