ห้ามพลาด! วิธียื่นภาษีเงินได้ออนไลน์ ปี 2566

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 รูปแบบ

1. ยื่นภาษีแบบเอกสาร สามารถยื่นด้วยตนเองที่กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 66
2. ยื่นภาษีแบบออนไลน์ สามารถยื่นด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 เม.ย. 66

ใครบ้างต้องยื่นภาษี ?

ทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาท ต้องยื่นภาษีเพื่อแสดงรายได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงเกณฑ์จ่ายภาษีก็ตาม แบ่งเป็น
- สำหรับคนโสด มีรายได้จากเงินเดือนเพียงช่องทางเดียว ปีละ 120,000 บาทขึ้นไป หรือมีรายได้อื่นๆ ปีละ 60,000 บาทขึ้นไป มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีแม้ว่าจะไม่เสียภาษี
- สำหรับคนมีคู่ มีรายได้จากเงินเดือนเพียงช่องทางเดียว ปีละ 220,000 บาทขึ้นไป หรือมีรายได้อื่นๆ ปีละ 120,000 บาทขึ้นไป มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีแม้ว่าจะไม่เสียภาษีเช่นเดียวกัน

เราต้องยื่นภาษีแบบไหน ?

สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้ที่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือน
- แบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเราที่มีรายได้ทางเดียว

สิ่งที่ต้องเตรียมยื่นภาษีออนไลน์ประกอบด้วย

- เรียนรู้ระบบ E-Filling แบบใหม่
- เอกสารแสดงรายได้ ได้แก่ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) จากนายจ้าง เป็นเอกสารที่ระบุว่าปีนั้นมีรายได้รวมเท่าไหร่ มีการหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่าง ๆ
- รายการลดหย่อนภาษี ที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา บุตร หรืออุปการะคนพิการ
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อนำมาใช้ในการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อแม่ จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการ และสิทธิลดหย่อนจากโครงการรัฐบาล

ตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

 

วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2565 ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร มีขั้นตอนดังนี้

1. เข้าเว็บไซต์ของ กรมสรรพากร หรือคลิก ที่นี่  จากนั้นเลือกปุ่ม "ยื่นออนไลน์"

 

2. เมื่อเข้าสู่ระบบ ให้กด "ยื่นแบบออนไลน์" ส่วนใครที่เพิ่งยื่นภาษีเป็นครั้งแรกต้องสมัครสมาชิกก่อน

3. หน้าจอเข้าสู่ระบบ "กรอกเลขประตัวผู้เสียภาษีอากร" หรือชื่อผู้ใช้งาน (ก็คือเลขประจำตัวประชาชน) และรหัสผ่าน (ที่เคยตั้งไว้) จากนั้น "กดปุ่มเข้าสู่ระบบ"

4. กรมสรรพากรมีการเพิ่มระบบ "OTP เพื่อยืนยันตัวตน" หากใช้เบอร์เดิมให้เลือกเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ ระบบจะส่งรหัส OTP มายังเบอร์ที่ใช้ในปัจจุบัน หากมีการเปลี่ยนเบอร์ให้ระบุเบอร์โทรศัพท์ใหม่ จากนั้นกดขอรหัส OTP

5. หลังจากได้รับ OTP จากโทรศัพท์ ให้นำรหัสนั้นมากรอก โดยให้ "กรอกรหัส OTP" ลงในช่องที่      ระบุไว้ จากนั้นกด "ยืนยัน OTP

6. ระบบจะแสดงหน้าจอผู้มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กด "ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91" ซึ่งเป็นแบบภาษีเงินได้ประจำปี

7. ระบบจะแสดงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ทั้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร, ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานที่ติดต่อ, ร้านค้า/กิจการส่วนตัว (ถ้ามี) และให้ระบุสถานะในปัจจุบันด้วย จากนั้นเลือกกด "ถัดไป"

 

 

 

8. ระบบแสดงหน้ารายได้ เช่น รายได้จากเงินเดือน, รายได้จากฟรีแลนซ์-รับจ้างทั่วไป-วิชาชีพอิสระ, รายได้จากทรัพย์สิน การทำธุรกิจ, รายได้จากการลงทุน และรายได้จากมรดกหรือได้รับมา หากเป็นพนักงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือน เลือกรายได้จากเงินเดือน กดที่ "ระบุข้อมูล"

 

 

9.ใส่ รายละเอียดเงินได้ทั้งหมด ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เลขผู้จ่ายเงินได้ จากนั้นกด "บันทึก"

 

 

10. ระบบจะพากลับมาที่หน้ารายได้เหมือนเดิม ให้ "ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง" ว่าถูกต้องหรือไม่ (หากมีรายได้ที่นอกเหนือจากเงินเดือน ให้กรอกให้ครบถ้วน) จากนั้นกดถัดไป

 

 

 

11. ระบบจะแสดงรายการค่าลดหย่อนภาษีที่เรามีในปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนกลุ่มออมเงินและลงทุน
กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล
กลุ่มที่ 4 ค่าลดหย่อนบริจาค

(กรอกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม หรือใครที่มีการออมการลงทุนต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี)

 

 

12. หากกรอกข้อมูลในแต่ละกลุ่มครบถ้วนแล้วให้ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ทั้งข้อมูลเงินได้ทั้งหมด การคำนวณภาษี และยอดที่ชำระ (ขอคืน) (หากมียอดเงินที่ต้องเสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้)

13. เมื่อตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้ว กดปุ่ม "ยืนยันการยื่นแบบ" เป็นอันเสร็จสิ้นการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ข้อแนะนำหลังการยื่นแบบสำเร็จ:
ควรพิมพ์แบบ (หรือจัดเก็บ PDF file) เพื่อเป็นหลักฐานการยื่นแบบประจำปี

กรณีมีภาษีต้องชำระสามารถเลือกช่องทางการชำระภาษีดังนี้
ปัจจุบันช่องทางการชำระภาษีที่ครอบคลุมและสะดวกสบายต่อผู้เสียภาษีโดยท่านสามารถเลือกชำระตามที่สถานที่ใกล้บ้านประกอบด้วย
- ชำระทันทีผ่านระบบโดยตัดเงินผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต
- ช่องทาง ATM
- ช่องทาง Internet Banking
- ช่องทาง Mobile Banking
- ช่องทาง Tele-Banking
- เคาน์เตอร์สรรพากร / RD Counter
- เคาน์เตอร์ธนาคารต่าง ๆ ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
- Counter Service

กรณีขอรับเงินคืน
- อัปโหลดหลักฐานแนบไปให้ครบถ้วน
- เลือกรับเงินคืนผ่านพร้อมเพย์ หรือธนาคารกรุงไทย

 

บทความโดย : นางสาวปิยวรรณ ปาสา ประจำสำนักคณะกรรมการบริหาร

ข้อมูลอ้างอิง: กรมสรรพากร