9 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ฉบับเข้าใจง่าย

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

     ในปัจจุบันรายได้จากงานประจำอาจไม่ตอบโจทย์กับชีวิตของใครหลายๆ คนอีกต่อไป บ้างคนจึงเลือกหาอาชีพเสริมทำ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ ทำธุรกิจเป็นของตัวเองกันมากขึ้น แน่นอนว่าพอมีรายได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจเริ่มเติบโตมากขึ้น สิ่งที่หลายคนกำลังมีข้อสงสัยก็คือ จะจดทะเบียนบริษัทเลยดีไหมและขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทจะยุ่งยากหรือไม่ในบทความนี้จะมาอธิบายขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทแบบเข้าใจง่ายให้ทราบกันค่ะ

9 ขั้นตอนในการจดทะเบียนบริษัทมีขั้นตอนดังนี้

     การจดทะเบียนบริษัทเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ หากกิจการของคุณเริ่มเติบโต โดยเฉพาะเมื่อกิจการมีรายได้มากขึ้นมากกว่า 750,000 บาทขึ้นไป เพราะหากคุณเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เท่านี้จะต้องเสียภาษีถึง 35% แต่หากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ภาษีเงินได้สูงสุดที่ต้องเสียจะอยู่ที่ 20% เท่านั้น จะเห็นว่าการจดทะเบียนบริษัทนั้นช่วยประหยัดภาษีและยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กิจการอีกด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะอยากทราบแล้วว่าขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทนั้นยุ่งยากไหม มีขั้นตอนอะไรบ้าง ใช้เวลานานหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้ยุ่งยากแบบที่ทุกคนคิด เพียงแต่ต้องศึกษาและเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม และทำตามขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทต่อไปนี้

     1. ศึกษาข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท

     เมื่อต้องการจดทะเบียนบริษัท ควรศึกษาและทำความเข้าใจในการจดทะเบียนว่ามีกี่ประเภทและประเภทไหนเหมาะกับกิจการของเจ้าของรวมถึงเงื่อนไขทางกฎหมาย และเอกสารที่ต้องเตรียมให้ครบและถูกต้องในการจดทะเบียนให้สมบูรณ์

     2. จัดเตรียมเอกสารสำหรับการจดทะเบียน

     ขั้นตอนการเตรียมเอกสารในการจดทะเบียนบริษัทที่ใช้สำหรับยื่นจดทะเบียน โดยเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัท ให้ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องส่วนเอกสารประจำตัวผู้ถือหุ้นสามารถลงชื่อด้วยตัวเองได้เลย

     เอกสารที่ต้องเตรียมไปจดทะเบียน มีดังนี้
- แบบคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- หนังสือบริคณห์สนธิ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200 บาท
- รายการจดทะเบียนจัดตั้ง
- แบบวัตถุประสงค์
- แบบรายละเอียดกรรมการ
- ใบแจ้งผลจองชื่อนิติบุคคล (ยังไม่หมดอายุ)
- หลักฐานในการเห็นชอบการจัดตั้งบริษัท
- แบบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ซื้อหุ้นในการประชุมให้ความเห็นในกิจการจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ
- สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
- สำเนาข้อบังคับ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200 บาท
- สำเนาหลักฐานการชำระหุ้นที่บริษัทออกให้ผู้ถือหุ้น

     3. ตั้งชื่อบริษัทสำหรับการจดทะเบียนและวิธีจองชื่อบริษัท

     สำหรับการตั้งชื่อบริษัทที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาตามมาในภายหลัง ควรตั้งชื่อโดยหลีกเลี่ยงคำที่ทำให้เข้าใจผิด โดยไม่ใช้พระนามของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ชื่อประเทศ ไม่ใช้ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ไม่ใช่ชื่อส่วนของราชการ
ส่วนวิธีการตรวจและจองชื่อบริษัทมี 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
     1. สมัครสมาชิกฟรีที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
     2. เข้าไปที่ จองชื่อ / ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล
สามารถทำการจองชื่อบริษัทได้ถึง 3 ชื่อ โดยชื่อต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับชื่อบริษัทที่มีอยู่แล้ว

     4. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน

     ขั้นตอนการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คือ การยื่นหนังสือแสดงความต้องการจัดตั้งบริษัทที่ต้องใช้ยื่นต่อนายทะเบียน โดยต้องยื่นภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันหลังจากที่นายทะเบียนได้ลงชื่อบนเอกสาร โดยข้อมูลที่ตั้งรายงานมีดังนี้
- ชื่อของบริษัท (ที่ได้จองไว้)
- ข้อมูลที่ตั้งสำนักงานใหญ่ / สาขา จังหวัดที่ตั้ง รหัสประจำบ้านของที่ตั้งสำนักงาน อีเมล เบอร์โทร.บริษัทและเบอร์โทร. ติดต่อกรรมการและชื่อที่อยู่เว็บไซต์ (ถ้ามี)
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ-ที่อยู่ อายุ สัญชาติ พยานจำนวน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จำนวนทุน (มูลค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว ต้องมีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ-ที่อยู่ อายุ กรรมการ
- รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท
- ชื่อ-เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ-ที่อยู่ สัญชาติและจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น

     5. เปิดให้จองหุ้น และนัดประชุมผู้ถือหุ้น

     ผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเท่านั้นใคร ๆ ก็สามารถซื้อหุ้นบริษัทได้ โดยจะต้องถืออย่างน้อย 1 หุ้นขึ้นไป จากนั้นเมื่อทำการจองซื้อหุ้นบริษัทจนครบแล้ว จะต้องออกหนังสือเพื่อทำการนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทอีกครั้งเพื่อทำการจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดการประชุมจะจัดหลังออกหนังสืออย่างน้อย 7 วัน

     6. จัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท

     จัดการประชุมเพื่อให้เข้าใจข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของบริษัทร่วมกันไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทและอำนาจของคณะกรรมการ การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัท กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่ม กิจการหรือผู้ก่อตั้ง รวมถึงกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ

     7. จัดตั้งคณะกรรมการบริษัท

     การประชุมจัดตั้งกรรมการบริษัท เพื่อมาทำหน้าที่แทนผู้ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในนามบริษัท ด้วยการทำหน้าที่เก็บเงินชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาหุ้นจริง เมื่อเก็บครบแล้วจะทำการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท โดยต้องยื่นภายใน 3 เดือนหลังจากที่มีการประชุมจัดตั้งเท่านั้น หากล่าช้าจะถือว่าการประชุมเป็นโมฆะและต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง

     8. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท

     มาถึงขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทที่สำคัญมากซึ่งใกล้เสร็จสิ้นกระบวนทั้งหมดแล้วนั่นก็คือการชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทนั่นเองซึ่งค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระทั้งหมด ในการจดทะเบียนบริษัทจำกัด มีดังนี้
1. ค่าหนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
2. ค่ารับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน 50 บาท
3. ค่าใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
4. ค่าอากรแสตมป์ 200 บาท
5. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
6. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทจำกัด 5,000 บาท

     9. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท

     เมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จสิ้นแล้ว สามารถขอรับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทได้ที่นายทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ ที่แสดงว่าบริษัทได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ โดยสมบูรณ์ตามที่บริษัทพึงมีทุกประการ

 

ข้อมูลอ้างอิง : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

บทความโดย :  นางสาวปิยวรรณ ปาสา ประจำสำนักคณะกรรมการบริหาร