“อี-เพย์เมนท์” ปิดช่องโหว่จ่ายสวัสดิการรัฐ

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

         กรมบัญชีกลางหวังระบบอี-เพย์เมนท์ ช่วยให้การจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐถึงมือประชาชน แบบไม่ผิดฝาผิดตัว ล่าสุดเตรียมเปิดเฟสสองจ่ายตรงเงินสวัสดิการ 

         เบี้ยยังชีพคนชราและผู้พิการกว่า 9.5 ล้านคน ผ่านระบบดังกล่าวในเดือนม.ค.2560 โดยจะนำร่องจ่ายเงินดังกล่าวในเทศบาลเมืองพัทยา 8 พันคนในเดือนธ.ค.2559 จากนั้น จะต่อด้วยกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ

         ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกรมบัญชีกลาง ได้นำร่อง ระบบอี-เพย์เมนท์ จ่ายเงินสวัสดิการตรงถึงมือประชาชน ผ่านโครงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ให้ผู้มีสิทธิรับเงินทั่วประเทศเป็นโครงการแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา 

         โครงการจ่ายเงินสวัสดิการผ่านระบบอี-เพย์เมนท์ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของรัฐบาล ที่สามารถจ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นสวัสดิการของรัฐส่งไปถึงมือประชาชนได้โดยตรง กล่าวคือ เป็นการจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้รับ จากเดิม กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง จะเป็นผู้จ่ายเงินเป็นก้อนให้กับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ได้รับสวัสดิการ การจ่ายลักษณะดังกล่าว อาจเป็นช่องโหว่ของการตรวจสอบว่า เงินก้อนนี้จะไปถึงมือผู้รับสวัสดิการจริงหรือไม่

        ที่ผ่านมาภาครัฐ มีปัญหาเรื่องข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย ที่จะมาทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือ เช่น กรณีเรื่องเบี้ยยังชีพคนชรา ปัจจุบันจ่ายอยู่ 8 ล้านคน แต่พบว่า ยังมีรายชื่อผู้เสียชีวิต ได้รับเบี้ยยังชีพ 1 แสนราย ทำให้งบไม่ได้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเปิดให้ลงทะเบียนคนจน ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลครั้งใหญ่ ที่ทำให้การจัดสรรงบตามนโยบายตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนคนจน 8 ล้านราย

        นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ระบุว่า การจ่ายเงินสวัสดิการตรงเข้าบัญชีผู้ที่มีสิทธิ์ จะทำให้การจ่ายเงินงบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาอาจมีข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น บางรายเคยขึ้นทะเบียนไว้ในจังหวัดหนึ่ง เมื่อย้ายไปอีกจังหวัด ก็ไปขึ้นทะเบียนอีกจังหวัด โดยที่ไม่มีการสอบทานกันดีพอ เพราะระบบการจ่ายเงินส่วนใหญ่ จะเป็นแบบเงินสด

         แต่ระบบอี-เพย์เมนท์ จะจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีผู้ที่มีสิทธิ์ โดยมีการสอบทานผ่านหมายเลขบัตรประชาชน หากมีหมายเลขใดจ่ายซ้ำ ระบบจะมีการลบออกทันที สำหรับรายที่ไม่สามารถไปเบิกเงินที่ธนาคารได้ กรมฯก็จะอนุญาตให้มีการรับเป็นเงินสดผ่านท้องถิ่นได้เหมือนเดิม

        กรมบัญชีกลางได้นำร่องโครงการจ่ายเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดผ่านระบบอี-เพย์เมนท์ภาครัฐกว่า 8 หมื่นราย โดยรอบแรกได้จ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา 5.6 หมื่นราย เป็นเงิน 22.6 ล้านบาท ยังมีจำนวนผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการนี้อีก 1.8 หมื่นราย เพราะข้อมูลที่กรมบัญชีกลางได้รับมายังไม่ถูกต้อง เช่น รายชื่อ กับ เลขที่บัญชีเงินฝาก จึงต้องส่งกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัด คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อได้ข้อมูลที่ตรงกันแล้ว คาดสามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ในวันที่ 28 ก.ย.นี้

        สำหรับงวดต่อไป จะเริ่มจ่ายวันที่ 10 ต.ค. และ ทุกๆ วันที่ 10 ของเดือนถัดไป โดยกรมบัญชีกลางต้องตรวจสอบข้อมูล ไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกเดือน ก่อนจ่ายเงิน เพื่อให้ข้อมูลการจ่ายมีความถูกต้องและแม่นยำ เพราะอาจมีเด็กบางรายเสียชีวิต หรือมีเด็กที่เกิดใหม่ ดังนั้นข้อมูลต้องอัพเดททุกเดือน ซึ่งจะนำไปใช้กับการจ่ายเงินสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐด้วย

        “เราต้องตรวจสอบข้อมูลทุกเดือน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน เพื่อเตรียมให้พร้อม กับการจ่ายตรงในวันที่ 10 ของทุกเดือน เช่น คนที่รับยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และ ยังมีสิทธิที่ยังจะได้รับเงินสวัสดิการหรือไม่”

        ทั้งนี้ในเดือนก.ย.จะจ่าย 400 บาทต่อรายต่อเดือน แต่นับจากเดือนต.ค.เป็นต้นไป จะจ่าย 600 บาทต่อรายต่อเดือน จนเด็กอายุครบ 3 ปีบริบูรณ์

        สำหรับเฟสสองจะเริ่มจากการจ่ายเงินสวัสดิการเบี้ยยังชีพคนชราและผู้พิการกว่า 9.5 ล้านคน คาดเดือนม.ค.2560 กรมบัญชีกลางสามารถจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ของเทศบาลเมืองพัทยา 8,000 คน ผ่านระบบสวัสดิการสังคมได้ก่อนเป็นลำดับแรก

        “เริ่มนำร่องการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชราในเมืองพัทยาเป็นที่แรก ที่ผ่านมาหารือกับผู้บริหารเมืองพัทยา ถึงแนวทางดำเนินการแล้ว โดยในเมืองพัทยามีผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพคนชราและผู้พิการ 8 พันคน หากจ่ายเงินตรงในพื้นที่สำเร็จ ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มจ่ายตรงให้ผู้มีสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ 8 แสนคน”

        นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เตรียมแพ็คเกจเพิ่มสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยบางส่วนดำเนินการผ่านระบบอี-เพย์เมนท์ของภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งปัจจุบันได้ตามสัดส่วนอายุที่มากขึ้น กระทรวงการคลังพบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ได้มีความต้องการรับเบี้ยยังชีพคนชรา หรือ บางรายเสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต้องการเบี้ยยังชีพเพิ่ม ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงมีแผนออกแบบสอบถามไปยังผู้สูงอายุว่า ต้องการเบี้ยยังชีพคนชราหรือไม่

        กระทรวงการคลังมีแผนทำประกันให้แก่ผู้มีรายได้น้อย กรณีที่เกิดการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุที่ไม่สามารถทำงานได้ กำหนดให้ประกันจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงิน 300 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน

        “เรากำลังจัดทำแพจเกจเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านการเพิ่มสวัสดิการของรัฐ ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสำนักงบ เพราะแพ็คเกจนี้ ต้องจัดสรรงบเข้าไปเพิ่มเติม”

 

 

ขอขอบคุณที่มา :  www.bangkokbiznews.com