กระทรวงเศรษฐกิจประสานมือบูรณาการนโยบายสร้างความเข้มแข็ง SMEs ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากภายในสู่ภายนอก

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

ภายใต้แนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นให้หน่วยงานรัฐใช้หลักการขับเคลื่อนนโยบาย (agenda) มากำหนดเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานตามภารกิจ ทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน การทำงานระดับกระทรวงกับกระทรวง ระดับกรมกับกรมในกระทรวงเดียวกันหรือต่างกระทรวง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความสมดุลย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจจากภายในสู่ภายนอก อันจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้แก่ประเทศไทยในระยะยาว


นโยบายการขับเคลื่อน SMEs ที่มีอยู่กว่า 2.8 ล้านราย รวมกับวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 80,000 ราย กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ถือเป็นวาระแห่งชาติให้ทุกหน่วยงาน กำหนดเป็นทิศทางในการวางมาตรการเศรษฐกิจที่สอดรับเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน มาตรการทางภาษี ไปแล้ว เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนให้ SMEs สามารถดำเนินการต่อในภาวะเศรษฐกิจผันผวนและสร้างโอกาสในการขยายการลงทุน แต่ความสามารถในการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลต้องได้รับการเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs มีประสิทธิภาพที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน


กระทรวงเศรษฐกิจ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันบูรณาและกำหนดมาตรการการขับเคลื่อน SMEs ระยะเวลา 3 ปี (ปี 2559 – 2561) เพื่อเชื่อมโยงตั้งแต่การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ จนสามารถนำสู่การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศ และผลักดันรายเดิมให้มีศักยภาพที่จะขยายการค้าการลงทุนจากตลาดท้องถิ่น สู่อาเซียนและตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงาน การเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มและการดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม GDP ของประเทศในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มุ่งสู่มาตรการสร้างสังคมผู้ประกอบการและความเข้มแข็ง SMEs โดยการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ รวมถึง การพัฒนาธุรกิจรายสาขา ด้วยการสร้างการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติจากโลกการค้าจริง เพื่อให้มีความเป็นผู้ประกอบการที่เป็นนักการค้ามืออาชีพ สามารถสร้างและขยายการค้า การลงทุนในตลาดทุกระดับเป้าหมายไม่น้อยกว่า 15,000 ราย ใน 3 ปี การส่งเสริม Social Business ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีขีดความสามารถในการดำเนินงานเชิงธุรกิจ มีเครือข่ายที่จะสร้างรายได้เพิ่มการจ้างงานส่งผลต่อความเติบโตแข็งแรงของชุมชนในแต่ละพื้นที่ เป้าหมายรวม 5,000 ราย ใน 3 ปี และเพื่อรองรับมาตรการทางการเงิน ได้มีการจัดตั้งสำนักงานหลักประกันทางธุรกิจ เป็นหน่วยงาน ทำหน้าที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ที่ขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อเพื่อธุรกิจมากขึ้น


ส่วนการดำเนินงานตามภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์อีกด้านหนึ่ง คือ การสร้างตลาดให้แก่ SMEs โดยวางมาตรการสร้างตลาดทุกระดับเชื่อมโยงท้องถิ่น อาเซียน และตลาดโลกในตลาดระดับท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความจำเป็นของภาคเกษตรที่ต้องมีตลาดกลางที่มีศักยภาพความเป็นมาตรฐานในการเป็นศูนย์กลางรองรับผลผลิต สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าการตลาดและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 54 แห่ง อีกทั้งการคำนึงถึงการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจภายในชุมชน การสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ SMEs และ วิสาหกิจชุมชนในแต่ละท้องถิ่น รวมไปถึงผลพลอยได้จากการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น 231 แห่ง ทั่วประเทศ


เมื่อ SMEs มีขีดความสามารถที่จะขยายสู่ตลาด ASEAN จะต้องได้รับการส่งเสริมให้ข้ามผ่านเส้นการค้าชายแดน ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันซึ่งเป็นที่นิยมและต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงผู้ผลิต SMEs ที่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จะรวมกันเป็นเครือข่ายร่วมกันขยายตลาดการค้าชายแดนที่สามารถขยายโอกาสต่อเนื่องเข้าไปถึงตลาดในประเทศกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะ CLMV และมาเลเซีย (CLMMV) ขณะนี้มีร้านค้าส่ง – ปลีกรายใหญ่ตามชายแดนที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์จำนวน 22 จังหวัด รวม 45 ร้านที่พร้อมจะขยายการค้า การลงทุนแล้ว นอกจากนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ศักยภาพและขยายตลาดการค้าสร้างโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่ม ASEAN ได้มีการกำหนดแผนงานจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า เพื่อเจาะตลาดหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจใน ASEAN ภายใต้การจัดงาน Thailand Week ในแต่ละประเทศ


ธุรกิจไทยหลายสาขามีขีดความสามารถในการขยายสู่ตลาดโลก อย่างไรก็ตาม การผลักดันของภาครัฐจะเพิ่มโอกาสในการเชื่อม SMEs ไทยสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น จากการเป็นหัวหอกของภาครัฐ เพื่อให้เอกชนเข้าถึงตลาดกลุ่มเป้าหมาย ลดปัญหาอุปสรรคและลดความเสี่ยงทางการค้า การลงทุนในการเจรจาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปลุกปั้นและส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมาโดยตลอด จนสามารถขยายสู่ตลาดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและตลาดโลก ซึ่งยังคงต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนา แฟรนไชส์ไทยที่มีมาตรฐานระดับสากลให้ก้าวสู่การเจรจาการค้าและการขยายธุรกิจให้แก่นักลงทุนในต่างประเทศหรือสร้างโอกาสที่จะลงทุนเองในตลาดต่างประเทศ เป้าหมายไม่น้อยกว่า 100 ราย/ปี สามารถขยายการค้า การลงทุนในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 300 ราย/ปี


สำหรับ SMEs ที่มีขีดความสามารถในการทำการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้า สนับสนุนให้ SMEs ไปขยายตลาดต่างประเทศภายใต้โครงการ SMEs Pro-Active Program ที่มีการจัดคณะผู้แทนการค้า การเข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายสินค้านานาชาติ เป้าหมาย 3 ปีไม่น้อยกว่า 2,600 ราย ในปีแรกไม่น้อยกว่า 900 ราย และยังดำเนินการต่อยอดการสร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลกด้วย การจัดงานแสดงสินค้าสุดยอดแบรนด์ไทย Top Thai Brands ในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายเพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์และตราสินค้าไทย รวม 3 ปี ไม่น้อยกว่า 500 ราย และที่ไม่สามารถข้ามผ่านได้ คือ การสร้างช่องทางการตลาดรองรับโลกยุคดิจิตอล กระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนา www.Thaitrade.com เป็นช่องทางการขยายตลาดการส่งออก B2B และขยายต่อเนื่องไปยังกลุ่ม B2B2C เพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อขนาดเล็ก Small Order Ok (SOOK) โดยคาดว่าจะมีฐานลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10,000 ราย


กระบวนการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์นั้น คาดว่าใน 3 ปีจะสามารถพัฒนา SMEs ไม่น้อยกว่า 58,940 ราย และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 338,800 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 419 พันล้านบาท ปี 2559 ขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม วงเงิน 704.64 ล้านบาท SMEs จำนวน 18,035 ราย และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 280,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 333 พันล้านบาท

 

ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ