คตง. เดินหน้าตั้ง “สํานักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้” หวังเสริมเขี้ยวเล็บ สตง.

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

 

          คตง. ดําเนินนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินเชิงรุก ล่าสุดมีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง “สํานักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้” คาดใช้เป็นเครื่องมือป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันและเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มรายได้แผ่นดิน ด้านผู้ว่าฯ สตง. รับลูก ประกาศเส้นตาย “3 เดือน” ให้โอกาสผู้มีหน้าที่เสียภาษีมาชําระภาษีที่ค้างชําระให้ครบถ้วนก่อนลุยปูพรมตรวจสอบเข้ม พร้อมชี้หากพบการกระทำผิดทั้งในส่วนของผู้มีหน้าที่เสียภาษีและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะดําเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

          ทั้งนี้การจัดตั้ง “สํานักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้” ดังกล่าวถือเป็นการดําเนินมาตรการที่ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร ขอให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ในการประเมินภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ํารวยผิดปกติตลอดจนให้เร่งรัดติดตามหนี้ที่ผู้เสียภาษีค้างชําระเป็นวงเงินประมาณ 130,000.- ล้านบาท

 

          ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการภายในของ สตง. โดยจัดตั้ง “สํานักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้” ขึ้นใหม่ ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ที่สําคัญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 39 (2) กล่าวคือ ตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการประเมินภาษีอากรการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นที่หน่วยรับตรวจจัดเก็บด้วย

 

          “การตรวจสอบการจัดเก็บรายได้เป็นลักษณะงานตรวจสอบด้านหนึ่งของ สตง. ซึ่งที่ผ่านมา สตง. เน้นการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน (ด้านรายจ่าย) กอปรกับภารกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสํานักตรวจสอบการเงิน จึงอาจจะมีข้อจํากัดบางประการในการปฏิบัติงาน แต่นับจากนี้เป็นต้นไป สตง. จะให้ความสําคัญกับการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนหน่วยงานอื่น ของรัฐทุกแห่ง ควบคู่ไปกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของ คตง. โดยคาดว่า หลังจากที่มีการบรรจุบุคลากรตามกรอบอัตรากําลังและเริ่มดําเนินการตรวจสอบ พร้อมเร่งผลักดันให้มีการใช้มาตรการทางภาษีอย่างจริงจังแล้วก็จะทําให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย” ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

 

          นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า การตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของ สตง. จะดําเนินการในสองมิติคู่ขนานกันไป ทั้งในส่วนของการป้องปรามการ กระทําผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการเร่งรัดการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่น ที่ยังคงค้างชําระในอดีต โดยในเบื้องต้น สตง.จะประสานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บรายได้โดยเฉพาะกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากรกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชี้แจงทําความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบแนวทางการตรวจสอบของ สตง.

 

          “ในระหว่างดําเนินการจัดตั้งทีมผู้ตรวจสอบและวางแผนการตรวจสอบ สตง. จะเปิดโอกาสให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแสดงความสุจริตใจ       โดยมาชําระภาษีที่ค้างชําระให้ครบถ้วนภายใน 3 เดือน หลังจากนั้น สตง. จะสุ่มตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่น พร้อมตรวจสอบการประเมินภาษีอากรของหน่วยงานจัดเก็บรายได้อย่างเข้มข้น หากพบว่ามีการจัดเก็บไม่ครบถ้วนก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดําเนินการเรียกให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมาชําระภาษีค่าเบี้ยปรับ พร้อมดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ในขณะเดียวกัน หากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลย ไม่เร่งรัดการจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกําหนด หรือประเมินภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงก็จะดําเนินการสอบสวนความผิดทางวินัยการเงินและการคลังเพื่อลงโทษปรับทางปกครองและดําเนินคดีอาญาตามกฎหมายโดยเคร่งครัดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

 

ที่มา : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน