เมื่อบุคคลธรรมดาเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

 

สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องรู้และทำความเข้าใจ เมื่อเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคล คือจุดที่แตกต่างกันของการเป็นเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั่นเอง 

สำหรับจุดที่แตกต่างกันก็คือ 

บุคคลธรรมดา : ไม่ต้องจัดทำบัญชี การคิดคำนวณภาษี

นิติบุคคล : ต้องจัดทำบัญชี จัดทำงบการเงินโดยมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบ จำกัดความรับผิดชอบภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น มีความน่าเชื่อถือ เสียภาษีน้อยกว่า

เมื่อตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เมื่อจะเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลนั้น แบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

1. รู้จักประเภทกิจการของตัวเองเพื่อการทำบัญชีและเสียภาษีได้ถูกต้อง

คือจะต้องรู้ว่ากิจการของเราเป็นประเภทใด เช่น ธุรกิจซื้อมา-ขายไป ธุรกิจผลิต หรือธุรกิจการให้บริการ ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ธุรกิจรับเหมา-ก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้จัดทำบัญชีและเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.dbd.go.th/download/PDF_/book_business_man.pdf

2. รู้หน้าที่สำคัญของนิติบุคคลในการจัดทำบัญชีและยื่นภาษี

2.1) หน้าที่ในการจัดทำบัญชี

• ต้องจัดให้มีการทำบัญชีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดนับแต่วันเริ่มทำบัญชี (พรบ.การบัญชี พ.ศ.2543) โดยผู้ทำบัญชีจะต้องมีคุณสมบัติเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีตามที่อธิบดีประกาศ

• ต้องปิดบัญชีและจัดทำงบการเงินงบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเว้นแต่ งบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้าน สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท รายการใดรายการหนึ่งหรือทุกรายการไม่เกินที่กำหนด

• ยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชีหรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดและภายในเวลาที่กำหนด
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.fap.or.th/images/pulldown_1362967466/Act2543.pdf
การจัดทำบัญชีให้ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ หากข้อมูลในการจัดทำบัญชีไม่ถูกต้อง ข้อมูลในงบการเงินก็จะไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการ

2.2) หน้าที่ในการยื่นแบบและเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน

สิ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจอีกอย่าง คือการยื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้องและยื่นให้ตรงตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องก็มีอยู่มากมาย แต่จะกล่าวถึงภาษีที่ธุรกิจทั่วไปส่วนใหญ่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ประกอบด้วย

• ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบ ภ.พ. 30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และบวกเพิ่มอีก 8 วัน ถ้ายื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต

• ภพ. 36 ใช้กับผู้จ่ายเงินทุกรายที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรยื่นภายในวันที่ 1-7 ของเดือนถัดไป นับแต่วัน สิ้นเดือนที่มีการจ่ายเงิน

• ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยื่นแบบ ภงด. 1,3,53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และบวกเพิ่มอีก 8 วัน ถ้ายื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต

• ภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี ยื่นแบบ ภงด.51 ภายใน 2 เดือนนับจากครึ่งรอบบัญชี

• ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ยื่นแบบ ภงด. 50 ภายใน 150 วัน นับจากวันปิดรอบบัญชี

• ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ยื่นแบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี ชำระภาษีภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งการประเมิน (ภายในเดือนมีนาคม ของทุกปี)

• ภาษีป้าย ยื่นแบบและชำระภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ชำระภาษีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

ข้อมูลเพิ่มเติม :http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/porkor/pp.pdf

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องของประกันสังคมและภาษีอีกหลายอย่าง ที่ผู้ประกอบการในรูปแบบนิติบุคคลจะต้องทำความเข้าใจและต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย หากทำไม่ถูกต้องครบถ้วนแล้วอาจจะโดนทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมถึงโทษร้ายแรงถึงขั้นติดคุกเลยก็เป็นได้

หมายเหตุ สำหรับผู้ประกอบการที่จะเปลี่ยนนิติบุคคล สามารถขอคำปรึกษาเพื่อจัดระบบเอกสารบัญชีการเงินติดต่อได้ที่ โทร 0-2596-0500 ต่อ 327

เกี่ยวกับผู้เขียน : น.ส. หนึ่งฤทัย ดารดาษ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายบริการบัญชี 3 บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด

Related Content

บัญชีกับภาษีของธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

https://goo.gl/rcMi7A