ราชกิจจาฯประกาศใช้พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 แล้ว

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

     เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เว็ปไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ พระราชบัญญัติ ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 แล้ว โดยระบุเหตุผลแนบท้ายในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของสถาบันการเงินเป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับได้มีการกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลหรือรับผิดชอบระบบการชำระเงินตามกฎหมายอื่นอีกด้วย

 

     เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินอย่างเป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สมควรกำหนดให้การกำกับดูแลระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินด้วยการอนุญาตหรือขึ้นทะเบียน และบทกำหนดโทษทางปกครองและโทษอาญา จึงมีความจำเป็นต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในบางกรณี

 

     นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆที่เกี่ยวข้องผลทางกฎหมายที่สำคัญของการชำระเงิน ตลอดจนการให้ความคุ้มครองมิให้การชำระเงิน มีการยกเลิกเพิกถอนในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายอันจะทำให้ระบบการชำระเงินของประเทศเกิดเสถียรภาพและความมั่นคงและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

คลิกอ่านประกาศใช้ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560

 

ธปท.กำหนด 5 กรอบ

กระบวนการกำกับดูแล

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงินจะมองภาพได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือผู้ให้บริการระบบชำระเงินที่มีนัยสำคัญ ซึ่งหมายถึงระบบการชำระเงินที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ต่อมาคือ ลูกค้าประชาชนผู้ใช้บริการ และส่วนที่ 3 คือ ผู้ให้บริการการชำระเงิน เช่น ธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์)

ในแต่ละวันทั้ง 3 ส่วน จะมีการเชื่อมโยงไขว้กันไปมา และสุดท้ายเมื่อจบวันต้องมาตรวจสอบกันอีกครั้งว่าเงินที่เข้ามาในระบบตามธุรกรรมที่เกิดขึ้นใครต้องจ่ายให้ใครเท่าไร ผ่านคนให้บริการระบบชำระเงินกลางที่จะทำหน้าที่คอยตรวจเช็ก ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ. ระบบการชำระเงินฉบับใหม่ได้ กำหนดให้ ธปท.เป็นผู้มีหน้าที่กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลการประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตั้งแต่การเริ่มขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ การกำกับดูแลตรวจสอบ ตลอดจนการดำเนินการเพื่อแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงาน โดยมีกรอบการกำกับดูแลที่สำคัญ ได้แก่

1.การบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย เพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ อาทิ Systemic Risk, Settlement Risk และ Operational Risk เหมาะสมกับธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงิน รวมถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ โดยครอบคลุมในเรื่อง Security Integrity และ Availability

2.ความมั่นคงทางการเงิน เพื่อดูแลผู้ให้บริการให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การกำหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว

3.ธรรมาภิบาล เพื่อให้มีการบริหารจัดการภายใน และโครงสร้างองค์กรที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ รวมถึงมีกรรมการและผู้บริหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

4.การคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ในเรื่องการคุ้มครองเงินรับล่วงหน้า (Float Protection) การเปิดเผยข้อมูลการให้บริการที่ครบถ้วนและถูกต้อง การดูแลและจัดการข้อร้องเรียน รวมถึงการกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่คิดกับผู้ใช้บริการ

5.ประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน (Level Playing Field) ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินของไทย

นางสาวสิริธิดากล่าวว่า ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. การชำระเงินฉบับใหม่ ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินหลายฉบับ คือ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551, ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58, พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ที่มี พ.ร.ฎ.อีก 2 ฉบับคือ พ.ร.ฎ. e-Payment พ.ศ.2551 และ พ.ร.ฎ. e-Payment ของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) พ.ศ.2559 ส่งผลให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของกฎหมายเป็นภาระกับผู้ประกอบธุรกิจ

“การที่กฎหมายมีหลายฉบับค่อนข้างลำบากที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะรายใหม่ ดังนั้น ถ้ารวมกันอยู่ในที่เดียวก็จะลดภาระของเขา ทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้กำกับเองก็ดูแลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเราทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะว่าการชำระเงินมันจะมีพัฒนาการใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นกฎหมายฉบับเดิมมันยังมีความยากในการตอบสนองต่อสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น”

 

ติดตามเรื่อง กฎหมายระบบการชำระเงินฉบับใหม่ ยกระดับการกำกับดูแลสู่มาตรฐานสากล คุมผู้ให้บริการทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จับมือ 5 เครือข่ายบัตรรายใหญ่ของโลก ร่วมใช้ QR Code มาตรฐานของไทย เป็นประเทศแรกในโลก พร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ฉบับที่ 426 บนแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

หรือในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi

 

 

ขอขอบคุณที่มา : moneyandbanking