สรรพากร"นิรโทษกรรมภาษีปี58" ยกเว้นตรวจสอบบริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้าน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 1 ก ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีทั้งสิ้น 9 มาตรา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ซึ่งเหตุผลในการออก พ.ร.ก.นี้ระบุว่า เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งหากไม่ดำเนินการโดยเร่งด่วน จะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้

       

ทั้งนี้ เนื้อหาที่สำคัญคือ มาตรา 4 ที่ระบุว่า ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา และมีกำหนดครบ 12 เดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธ.ค.2558 ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2559 โดยรายได้ที่จะได้รับการยกเว้นนั้น จะเป็นรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยการได้รับยกเว้นต้องปรากฏด้วยว่าเจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้เริ่มดำเนินการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร หรือยังไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น ๆ

       

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้ 1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ 2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ดำเนินการก่อนวันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับ 3.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร และ 4.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล

 

หลักเกณฑ์งดเว้นเบี้ยปรับ

       

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

       

       1.จดแจ้งต่อกรมสรรพากร ว่าเป็นผู้ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.ก.นี้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และภายในเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

       

       2.ยื่นรายการในการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการ ในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2559 เป็นต้นไป

       

       3.ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้ สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือน ม.ค.2559 เป็นต้นไป

       

       4.ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตั้งแต่ ม.ค.2559 เป็นต้นไป

       

       5.มีการจัดทำ บัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2559 เป็นต้นไป และ 6.ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร นับแต่วันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ

       

“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นตาม พ.ร.ก.นี้ และเมื่อมีการเพิกถอนการได้รับยกเว้นแล้ว ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่เคยได้รับยกเว้นการใดๆ ตาม พ.ร.ก.นี้ และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินความผิดอาญาเกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษีรายรับ หรือการกระทำตราสารตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร” เนื้อหาของมาตรา 7 ระบุไว้

       

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวยังระบุอีกว่า เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร ให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแลใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 เป็นต้นไป โดยมี รมว.การคลัง รักษาการตาม พ.ร.ก.นี้

       

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 นั้น จะประกอบด้วย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป, บริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,บริษัทจัดการกิจการลงทุน, กองทุนรวม และบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นต้น

       

มีรายงานว่า ในวันที่ 4 ม.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจการทำงานของกระทรวงการคลัง และจะมีการแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลังถึงการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วย

       

ในขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ และการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีให้นายสมคิดเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป นอกจากนี้ ยังรายงานความคืบหน้าการทำระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) และการรายงานการเตรียมมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจในปี 2559 ที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและเศรษฐกิจภายในประเทศ

       

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอแพ็กเกจปฏิรูประบบภาษี ทั้งด้านโครงสร้าง การบริหารจัดเก็บ และภาษีตัวใหม่ โดยจะมีทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่รวมทั้งสิ้น 46 ฉบับ

       

ขณะที่เว็บไซต์อิศรารายงานว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ยังไม่ขอชี้แจงรายละเอียดอะไรเรื่องนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดที่เยอะมาก และในวันที่ 4 ม.ค. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้เอง

       

"ยืนยันว่าเรื่องนี้มิใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งในไทยบริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมด" อธิบดีกรมสรรพากรระบุ 

 

ที่มา-MGR Online