รุกตรวจภาษี113 อดีต รมต.-200 เศรษฐี

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

มาตรการตรวจสอบทางภาษี คือหนึ่งในกลไกสำคัญที่หลายประเทศนำมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างได้ผล แต่สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาพบว่ายังไม่ค่อยมีการใช้เครื่องมือดังกล่าวอย่างจริงจังมากนัก

 

แต่ในเวลานี้มาตรการดังกล่าวกำลังถูกนำมาใช้มากขึ้นแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้นำอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และมาตรา 49 ของประมวลรัษฎากร มาใช้ในการตรวจสอบการเสียภาษีของนักการเมือง ที่เริ่มจากอดีตรัฐมนตรีร่วม 113 คนว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และเสร็จจากนักการเมืองก็จะเป็นการตรวจสอบการเสียภาษีของข้าราชการระดับสูง, เศรษฐี และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่

 

รายละเอียดของการตรวจสอบการเสียภาษีดังกล่าว ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่เป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์, อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายภาษีอากร และเป็นผู้ผลักดันให้กรมสรรพากรและ สตง.ตรวจสอบเรื่องนี้ ได้บอกเล่าเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

โดย ประธาน คตง. ลำดับเรื่องให้ฟังว่า สำหรับมาตรการทางภาษีเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต คตง.มีนโยบายหลักออกมา 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ มาตรการที่ใช้กับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คตง.ก็มีนโยบายให้มีการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้สำนักตรวจสอบรายได้ใน สตง.ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อ 2-3 เดือนก่อน เข้าตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันรับตำแหน่งและวันพ้นจากตำแหน่ง โดยนำทั้งสองบัญชีนี้มาเทียบกันเพื่อตรวจสอบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นก็นำรายการภาษีเงินได้หรือ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ที่นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นยื่นต่อกรมสรรพากรมาตรวจสอบว่า ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้แสดงในแบบรายการเสียภาษีเงินได้หรือไม่ ถ้าหากพบว่าไม่ได้แสดงในแบบแสดงรายการและเสียภาษีไม่ครบถ้วน ก็จะแจ้งให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น และให้ประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมพร้อมกับให้ดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วย

 

ซึ่งสำนักตรวจสอบรายได้ของ สตง.ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยนำรายชื่อนักการเมืองที่เป็นอดีตรัฐมนตรี 113 คนใน ครม.ชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาพิจารณา ตอนนี้พิจารณาไปได้บางส่วนแล้ว

 

ชัยสิทธิ์-ประธาน คตง. ระบุว่าที่น่าสนใจก็คือ มีอยู่รายหนึ่งแสดงทรัพย์สินสุทธิในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ณ วันรับตำแหน่งไว้ 540 ล้านบาทเศษ และแสดงทรัพย์สินหนี้สินไว้ในวันพ้นจากตำแหน่ง 628 ล้านบาทเศษ จึงมีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 88 ล้านบาทเศษ และสำหรับคู่สมรสนักการเมืองผู้นี้ได้แสดงหนี้สินของคู่สมรส ณ วันที่นักการเมืองผู้นี้เข้ารับตำแหน่งไว้จำนวน 370 ล้านบาทเศษ แต่ ณ วันที่นักการเมืองผู้นี้พ้นจากตำแหน่ง นักการเมืองผู้นี้ได้แสดงรายการหนี้สินของคู่สมรสว่าไม่มีหนี้สิน การที่เคยมีหนี้สิน 370 ล้านบาทเศษ แต่ในวันที่พ้นจากตำแหน่งหนี้สินไม่มีเลย ก็ต้องแสดงว่าต้องมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 370 ล้านบาทเศษ จึงจะไปชำระหนี้ได้ ซึ่ง 370 ล้านบาทเศษที่เพิ่มขึ้นถือเป็นรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เพราะว่าเงินได้ที่ต้องเสียภาษีไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสด เป็นทรัพย์สินก็ได้ นักการเมืองผู้นี้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 88 ล้านบาทเศษ สำหรับสามี ไม่มีหนี้สิน 370 ล้านบาทเศษในวันพ้นจากตำแหน่ง

 

…แสดงว่านักการเมืองคนนั้นกับคู่สมรสมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในวันพ้นจากตำแหน่งรวม 458 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นเงินรายได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษี แต่ปรากฏว่าในแบบ ภ.ง.ด.ที่นักการเมืองผู้นี้ยื่นไม่มีการแสดงรายการทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 458 ล้านบาทเศษแต่อย่างใด คงแสดงแต่ว่ามีรายได้จากเงินเดือนปีละ 1 ล้าน 5 แสนบาท และเสียภาษีเพียง 1 แสน 5 หมื่นบาทเศษเท่านั้น กรณีนี้ถือว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน

 

“ฉะนั้น สตง.ก็จะแจ้งให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกนักการเมืองผู้นี้มาตรวจสอบไต่สวน และแจ้งการประเมินให้เสียภาษี พร้อมกับให้ดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วย นี่คือวิธีการใช้มาตรการทางภาษีอากรเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการตรวจสอบดังกล่าวก็จะต้องนำเรื่องส่งเข้าไปให้บอร์ด คตง.พิจารณา"

 

ประธาน คตง. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการใช้มาตรการตรวจสอบทางภาษีเพื่อป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน เรื่องที่สองที่ คตง.มีนโยบายออกมาก็คือ มาตรการทางด้านคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ คือตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ในมาตรา 103 (7) ได้บัญญัติให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับรัฐที่มีมูลค่าสัญญาตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป เช่นรับเหมาก่อสร้างอาคารให้กับหน่วยราชการหรือขายสินค้าให้กับหน่วยราชการ ถ้ามีมูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป คู่สัญญามีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐและยื่นต่อกรมสรรพากรและยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณีจนกว่าจะสิ้นภาระผูกพันตามสัญญา เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ เขาจะได้ตรวจสอบว่ามีการจ่ายเงินที่ไม่ชอบให้กับนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจะได้ชนะการประมูลหรือการประกวดราคาหรือไม่ ถ้าหากว่าคู่สัญญาไม่ยื่นต่อกรมสรรพากร กรมต้องรายงานให้ ป.ป.ช.ทราบเพื่อ ป.ป.ช.จะทำตามหน้าที่ต่อไป โดยคู่สัญญารายนั้นจะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐอีกไม่ได้

 

อันนี้เป็นมาตรการบังคับให้คู่สัญญากับหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติ อันนี้เป็นมาตรการที่ดีแต่เท่าที่ทราบไม่มีการยื่นกัน และมีการปล่อยปละละเลยจากกรมสรรพากรและ ป.ป.ช.ไม่มีการติดตาม เพื่อให้กฎหมาย ป.ป.ช.มีสภาพบังคับ คตง.จึงมีนโยบายให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบและกำชับให้กรมสรรพากร เล่นงานผู้รับเหมาหรือคู่สัญญากับหน่วยราชการ ให้ยื่นบัญชีแสดงรายการรายรับรายจ่ายของงานที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐ เป็นการให้ สตง.ไปตรวจสอบกรมสรรพากรอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้กรมสรรพากรเอาใจใส่ในเรื่องนี้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้มีการแสดงรายการรับจ่าย ซึ่งแม้ว่าผู้รับเหมาจะไม่แสดงรายจ่ายเงินใต้โต๊ะ อันนี้เขาไม่แสดงแน่นอน แต่ถึงเขาไม่แสดงรายจ่ายตัวนี้ แต่มันก็จะทำให้กำไรสุทธิที่เขาต้องยื่นเสียภาษีมันเพิ่มขึ้น แต่หากเขาแสดงรายจ่าย กำไรสุทธิมันก็จะน้อยลง เพราะกำไรสุทธิมันมาจากรายได้หักด้วยรายจ่าย ถ้ารายจ่ายมากและสูง กำไรน้อยก็เสียภาษีน้อย แต่ถ้าหากว่าคุณไม่แสดงรายจ่ายที่เป็นจริง รายจ่ายเงินใต้โต๊ะที่มีเช่น 30 เปอร์เซ็นต์ บางทีก็ 40 เมื่อไม่แสดงรายจ่ายตรงนี้ คุณก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น คุณจะแลกเอาตรงไหน ก็ต้องเอาตรงที่ไม่แสดง เพราะหากแสดงก็ติดคุก

ไม่แสดงก็ต้องเสียภาษี เพราะไม่นำรายจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์มา declare รายจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์นี้ก็ต้องถือเป็นรายได้ กำไรคุณก็ต้องเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกำไรเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ คุณก็ต้องเสียภาษีของเงิน 30 เปอร์เซ็นต์นี้

 

ประธาน คตง. บอกว่า มาตรการดังกล่าวที่ให้กรมสรรพากรเข้มงวดในเรื่องนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้คู่สัญญากับหน่วยราชการต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปนอกจากเสียเงินใต้โต๊ะ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว คุณยังต้องเสียภาษีอีก 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินใต้โต๊ะ เพราะฉะนั้นก็ต้องจ่ายเยอะทีเดียว อาจต้องจ่ายถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วมันจะคุ้มค่ากับที่รับงานหรือ โอเคเขาอาจบอกคุ้มค่าแล้วไปทำงานออกมาไม่ดี ถ้าทำงานไม่ดี สตง.ก็ไปตรวจสอบ ก็เล่นงานไม่ให้มีการตรวจรับงาน เขาก็ไม่ได้เงิน ถ้าเราใช้มาตรการภาษีตรงนี้จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้

 

ยกเคส แอล คาโปน-จอมพลสฤษดิ์

 

ถามถึงความคืบหน้าภาพรวมการตรวจสอบการเสียภาษีอดีต รมต. 113 คนจนถึงตอนนี้เป็นอย่างไร ชัยสิทธิ์ ให้ข้อมูลว่ายังตรวจได้สิบกว่ารายเท่านั้น แต่แค่สิบกว่ารายก็เจออย่างที่บอกไปหนึ่งรายแล้ว

 

พร้อมกันนี้ ประธาน คตง. ยกตัวอย่างการใช้มาตรการทางภาษีเอาผิดคนที่ทำผิดกฎหมายโดยยกตัวอย่าง แอล คาโปน (Al Capone) อาชญากรที่หลายคนรู้จักกันดี โดยบอกว่าการตรวจสอบเรื่องภาษี ก็มีอย่างเช่นในต่างประเทศกรณีของแอล คาโปน ที่มีการให้กรมสรรพากรของสหรัฐฯ เข้าไปตรวจสอบ จนมีการให้เก็บภาษีและดำเนินคดีอาญา ซึ่งแอล คาโปนติดคุก ไม่ได้ติดเพราะคดีฆ่าคน เพราะเขาหลุด แต่มาโดนคดีหลีกเลี่ยงภาษีอากร เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราดำเนินคดีกับนักการเมืองที่ทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ มีการดำเนินคดีอาญาได้ นักการเมืองพวกนี้ก็ติดคุก ก็เล่นการเมืองต่อไปไม่ได้ เพราะจะถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตเลย ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะกำจัดนักการเมืองที่ทุจริตได้

 

ผมก็พูดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่กล้าทำ พอเขาไม่ทำก็เลยมาคิดวิธีการแบบที่เสนอ ก็บอกกรมสรรพากรไป ถ้ากรมสรรพากรหรือรัฐมนตรีไม่ทำก็โดน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก็จะให้แจ้งดำเนินคดี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้งผมก็ดำเนินการให้เขาทำต่อได้ แล้วผมก็จะแจ้งต่อนายกฯ ด้วย หากนายกฯ ไม่ดำเนินการ นายกฯ ก็จะโดนด้วย

 

- ที่ผ่านมากรมสรรพากรไม่มีการตรวจสอบเรื่องภาษีอย่างที่ คตง.-สตง.เสนอไป?

 

ก็เห็นเงียบๆ เราถึงต้องมีนโยบายตรงนี้เพื่อเร่งรัดให้กรมสรรพากรตรวจสอบ เพื่อดูว่ามีการยื่นบัญชีมีการแสดงรายการรายรับ-รายจ่ายหรือไม่

 

ขณะที่หน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือต้องตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ อันนี้ก็ชัดเจน แต่ไม่ทราบ ป.ป.ช.มีการตรวจสอบหรือไม่ แต่ของเราพิจารณาในประเด็นเรื่องภาษี เพราะในแง่ของภาษี เงินคุณจะได้มาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ต้องเสียภาษีทั้งนั้น แต่หากมีการร่ำรวยขึ้นมาแบบผิดปกติ เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต้องไปตรวจสอบว่าคุณรวยขึ้นมาได้เพราะอะไรเกือบ 500 ล้านบาท นักการเมืองกับคู่สมรสก็ต้องชี้แจง ถ้าชี้แจงไม่ได้เงินก็ต้องตกเป็นของแผ่นดิน เป็นหน้าที่ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการ แต่ในส่วนของ สตง.มีหน้าที่แจ้งให้กรมสรรพากรไปดำเนินการได้

 

ถามความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เหตุใดที่ผ่านมากรมสรรพากรถึงไม่ดำเนินการ ประธาน คตง. ก็ตอบแบบชัดถ้อยชัดคำว่า เขาจะกล้าทำได้ยังไง ใครเป็นเจ้านายเขา ใครเป็น รมว.การคลัง เขาจะไปตรวจสอบเจ้านายเขาหรือ ยุคนี้เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากนักการเมือง ยุคนี้กรมสรรพากรต้องรีบดำเนินการ ถ้าหมดยุคนี้ไปแล้วกรมสรรพากรไม่กล้าดำเนินการหรอก ไม่อย่างนั้นเขาก็ย้ายแล้วแต่งตั้งคนของเขาขึ้นมา มันก็จะเป็นแบบนี้

 

มาตรการนี้ผมเสนอมาตั้งแต่สมัย คมช.ตอนช่วงปี 2549 แต่ก็เงียบ แล้วผมก็เป็นเพียงผู้พิพากษา แต่ตอนนี้ผมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในฐานะประธานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบกรมสรรพากรว่าเก็บภาษีถูกต้องหรือไม่ หากไม่เก็บหรือเก็บไม่ถูกต้อง กฎหมายของ สตง.คือ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 39 (2) ให้อำนาจ สตง.ที่จะแจ้งให้กรมสรรพากรจัดเก็บ หากกรมสรรพากรไม่จัดเก็บก็จะมีความผิด

 

- ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการเลือกตั้ง รัฐบาลหลังเลือกตั้งเข้ามา มาตรการตรวจสอบภาษีดังกล่าวจะทำต่อไปหรือไม่?

 

ก็ต้องออกข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงการคลัง กรมสรรพากรให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป หากเขาไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดตามมาตรา 63 และ 64 ของกฎหมาย สตง.และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

 

ที่ผ่านมา การเสียภาษีก็จะเสียจากเงินได้ที่ฝ่ายผู้เสียภาษีเขาแสดงมา ซึ่งหากกรมสรรพากรไม่เข้าไปตรวจสอบ เช่น บ้าน, ที่ดิน, รถยนต์, หุ้น, ทรัพย์สินมีค่า มันก็เก็บภาษีได้ไม่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่ามีเศรษฐีเป็นจำนวนมากที่มีบ้านราคาเป็นร้อยล้านบาท มีที่ดินนับพันไร่ บางคนมีทรัพย์สินหลายหมื่นล้านบาท แต่บางคนยื่นเสียภาษีปีละ 1 ล้าน 2 ล้าน ถามว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหมื่นล้านมันก็ต้องเสียภาษีใช่ไหม แล้วเขาได้เสียไหม ถ้าเขาไม่เสียกรมสรรพากรก็ต้องตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบโดยวิธีธรรมดามันอาจไม่ได้ผลเต็มที่ ต้องใช้มาตรา 49 ของประมวลกฎหมายรัษฎากร ที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการตรวจสอบจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น และเอาทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาถือเป็นรายได้พึงประเมินแล้วคำนวณเสียภาษี นี่คือข้อแตกต่างจากการตรวจสอบทั่วไป เพราะการตรวจสอบทั่วไปจะไม่ตรวจสอบจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น แต่ตรวจสอบจากเงินได้ที่เพิ่มขึ้น

 

ถ้าหากเราตรวจสอบจากทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นโดยอาศัยมาตรา 49 ก็จะได้ภาษีแน่นอน แต่ที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 49 น้อยมาก เคยมีการใช้กับทรัพย์สินจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการประเมินและเก็บภาษีเรียบร้อยไปแล้ว และต่อมาก็มีสมัย รสช.ที่พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ก็มีการตรวจสอบโดยใช้มาตรา 49 นักการเมืองระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายคนถูกประเมินภาษี ได้เงินไปหลายพันล้านบาท โดยอธิบดีกรมสรรพากรคนนี้เป็นคนตรวจสอบเองและเป็นคนประเมินภาษี โดยอาศัยมาตรา 49 คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและใช้มาตรา 49 ได้ก็คืออธิบดีกรมสรรพากรคนปัจจุบันนี้

 

จ่อตรวจสอบ 200 เศรษฐี

 

ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ เปิดเผยด้วยว่า ได้คุยกับกรมสรรพากร เขาก็ยินดีตรวจสอบ เพียงแต่เขาต้องการให้ สตง.ส่งรายชื่อนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงที่ต้องการให้ตรวจสอบ สตง.ก็เลยมอบหมายให้สำนักตรวจสอบรายได้ไปดำเนินการกับอดีตรัฐมนตรี 113 รายก่อน ถ้ารายไหนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ร่ำรวยผิดปกติ และเมื่อเปรียบเทียบกับแบบ ภ.ง.ด.ที่ยื่นต่อกรมสรรพากรแล้วปรากฏว่าเสียภาษีน้อยมาก ก็จะแจ้งให้กรมสรรพากรตรวจสอบภาษี อย่างที่ยกตัวอย่างนักการเมืองที่ร่ำรวยขึ้นประมาณ 500 ล้านบาทที่พูดในตอนต้น ส่วนข้าราชการะดับสูงก็จะเป็นโครงการลำดับต่อไป

 

“ตอนนี้ก็นักการเมืองก่อนแล้วก็ค่อยไปข้าราชการระดับสูง แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นเศรษฐี ตอนนี้กำลังจะให้เขาลิสต์รายชื่อเศรษฐี 200 คนของประเทศไทยมา แล้วก็จะมาพิจารณาโดยจะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของเขาก่อน”

 

ประธาน คตง. กล่าวขยายความถึงโครงการตรวจสอบการเสียภาษีของนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและเศรษฐีเมืองไทยว่า สตง.เรามีเจ้าหน้าที่ด้านสืบสวนสอบสวน เราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสืบเกี่ยวกับทรัพย์สินของนักการเมือง ข้าราชการ เศรษฐี ว่าคุณมีที่ดินอยู่ที่ไหน บ้านอยู่ที่ไหน รถยนต์อยู่ที่ไหน มีหุ้นอยู่ที่ไหน มีเงินฝากอยู่ในธนาคารเท่าใด ซึ่ง สตง.ตรวจสอบได้หมด กฎหมายให้อำนาจ สตง.ตรวจสอบได้ ธนาคารจะอ้างว่าเป็นความลับของลูกค้าไม่ได้ ธนาคารต้องเปิดเผย เพราะฉะนั้นพวกนี้เราก็จะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สินของเศรษฐี

 

พอเราได้มาเราก็จะนำแบบ ภ.ง.ด.จากกรมสรรพากรมาเปรียบเทียบ กรมสรรพากรก็ต้องส่งมาให้เรา หากเขาไม่ส่งมาให้เขาก็จะมีความผิด เขาจะอ้างว่าเป็นความลับของผู้เสียภาษีไม่ได้ เพราะในกฎหมาย สตง.เขียนยกเว้นไว้ว่าถ้าเปิดเผยต่อ สตง.ไม่มีความผิด เพราะฉะนั้นก็จะมาเปรียบเทียบดูเช่น คุณมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตั้งเป็นหมื่นล้านบาท แต่คุณเสียภาษีเพียงไม่กี่ล้านบาท โดยแสดงว่ามีรายได้ไม่กี่ล้านบาท แบบนี้แสดงว่าหลีกเลี่ยงภาษีอากร เราก็จะให้กรมสรรพากรประเมินภาษีและให้ดำเนินคดีอาญาด้วย

 

“มาตรการเรื่องนี้เราไม่ได้ให้เก็บภาษีอย่างเดียว ไม่ว่านักการเมือง เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือเศรษฐี เราจะให้ใช้มาตรการทางอาญาด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าสำเร็จก็จะมีนักการเมือง มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีเศรษฐีติดคุกได้ และเรื่องภาษีศาลจะไม่รอลงอาญา” ประธาน คตง.ระบุ

 

เมื่อถามย้ำถึงหลักเกณฑ์ที่จะไปตรวจสอบการเสียภาษี 200 เศรษฐี ว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรในการลิสต์รายชื่อมา ชัยสิทธิ์-ประธาน คตง. กล่าวในเบื้องต้นว่า ก็อาจจะเช่นเกณฑ์จากการดูข่าวของสื่อมวลชน ดูจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ดูจากตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานที่ดิน เช่น ดูว่า สมมุตินาย ก.มีที่ดินกี่แปลง อยู่ที่ไหน เราก็จะให้กรมที่ดินส่งมาให้เราหมด โดยเราดูแล้วอ่านจากข่าว หนังสือพิมพ์พบว่านาย ก.แสดงความร่ำรวยอะไรต่างๆ เราก็จะให้กรมที่ดินส่งสำเนาโฉนดที่ดินหรือหนังสือสำคัญที่นาย ก.มีอยู่ที่กรมที่ดินมาให้เรา แล้วก็ให้กระทรวงพาณิชย์ส่งมาให้เราว่านายคนนี้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทใดบ้าง รวมทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าเราไม่ทำ กรมสรรพากรเขาก็ไม่ทำ แล้วเรามีอำนาจทำตามกฎหมาย

 

“ต้องทำทีละโครงการ ตอนนี้ก็เริ่มจากนักการเมืองก่อน แล้วไปเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตามด้วยเศรษฐี พอเสร็จจากเศรษฐีแล้วก็จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จะตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทขนาดใหญ่”.

 

……………………..

 

ตรวจงบอุทยานราชภักดิ์

 

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องการก่อสร้าง โครงการอุทยานราชภักดิ์ ความชัดเจนในการเข้าตรวจสอบเรื่องนี้ ชัยสิทธิ์-ประธาน คตง. เปิดเผยว่า สตง.ได้เข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับรายงานว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ใช้เงินจากงบกลางเป็นจำนวน 63,575,300 บาท ส่วนที่เหลือพบว่าเป็นเงินบริจาค ซึ่งหลังจากนี้ สตง.จะเข้าตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องในโครงการ ว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติทางกฎหมายหรือไม่

 

เรื่องนี้ สตง.เข้าตรวจสอบได้ การก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์เป็นสถานที่ราชการ เพราะฉะนั้น สตง.ย่อมมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ โดยตรวจสอบว่าเงินที่ใช้ในการก่อสร้างสถานที่ดังกล่าว ได้มาจากที่ไหน หากได้มาจากการบริจาคก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กับราชการ ซึ่งตามระเบียบเงินบริจาคที่ได้รับมานั้นจะต้องนำฝากสำนักงานคลังจังหวัด หรือนำฝากธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ปัญหาจึงมีว่าเงินบริจาคนั้นได้ฝากกับสำนักงานคลังจังหวัดหรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบหรือไม่ เสร็จแล้วเวลาเบิกจ่ายต้องใช้วิธีการเบิกจ่ายตามระเบียบของราชการและมีหลักฐานการรับจ่ายเงินด้วย

 

...ปัญหาเบื้องต้นก็มีอยู่ 2-3 ข้อว่าเงินที่รับบริจาคได้นำฝากไว้ที่ใด ถ้าไม่ได้ฝากตรงนี้มันก็ไม่ชอบ อย่างหากจะไปฝากกับธนาคารพาณิชย์แห่งไหนก็ต้องไปขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน

 

ถ้าเขาทำถูกต้อง เราก็จะไปดูต่อว่าการเบิกจ่ายเงิน การลงบัญชีถูกต้องหรือไม่ อย่างเช่นการลงบัญชีรับเงินบริจาค การลงบัญชีเบิกเงินไปจ่ายค่าก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ มีใบเสร็จรับเงินจากผู้รับเหมาหรือไม่ สตง.ก็จะตรวจสอบแบบนี้

 

ถามความเห็นว่า เรื่องนี้หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นรัฐบาลจะทำให้เกิดความโปร่งใสควรทำอย่างไร ประธาน คตง. ให้ความเห็นว่าก็ต้องให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ส่วนเรื่องที่ว่ามีการหักหัวคิวอะไรต่างๆ ถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับเหมากับผู้ที่ไปแอบอ้างหักหัวคิว มันอาจจะไม่เกี่ยวกับกองทัพบกก็ได้ เพราะถ้าหากว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างที่มันถูกต้อง คนที่ดำเนินการคือกองทัพบกก็ไม่มีปัญหา แต่คนที่ไปดำเนินการเรียกเงินใต้โต๊ะก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ที่ไปเรียกเก็บเงินหักค่าหัวคิวกับผู้รับเหมา เป็นเรื่องระหว่างเขา ถ้าหากตัวเจ้าหน้าที่กองทัพบกไม่ได้มีส่วนในการเรียกร้องก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานนี้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกร้อง มันก็อาจจะผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ถ้าคนที่ไปเรียกร้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ หรือแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่แต่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง มันก็ไม่ผิด เพราะการที่จะลงโทษฐานทุจริตต่อหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องมีหน้าที่และต้องเป็นเจ้าหน้าที่ด้วย ถ้าหากไม่ใช่เจ้าหน้าที่เป็นเอกชนไปเรียกหัวคิวด้วยกัน แบบนี้ไม่ผิด เว้นแต่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่แล้วใช้เอกชนไป เช่นใช้นาย ก.ไปเรียกค่าหัวคิวจากผู้รับเหมา อย่างนี้ก็ผิดทั้งคู่โดยเอกชนผิดฐานผู้สนับสนุน ส่วนเจ้าหน้าที่ผิดในฐานะเป็นตัวการ ก็ต้องพิจารณากันดูให้ดี ตอนนี้ยังไม่สามารถพูดอะไรมากได้ เพราะข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้มากทีเดียว

 

ชัยสิทธิ์-ประธาน คตง. ที่เป็นอดีตผู้พิพากษา ให้ความเห็นถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่มีอยู่ในเวลานี้เช่นกฎหมายต่างๆ ว่าเท่าที่มีอยู่ตอนนี้คิดว่าก็ใช้ได้ กลไกก็ทำงาน แต่การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เราต้องคำนึงถึงอัตรากำลังด้วย กฎหมายให้อำนาจไว้แต่อัตรากำลังมีแค่ไหน

 

อย่าง สตง.เรามีอัตรากำลังประมาณ 3,200 คน แต่ต้องตรวจสอบหน่วยรับตรวจประมาณ 8 หมื่นกว่าหน่วย ตรวจทุกกระทรวง ทุกจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล, อบต., อบจ.ทั่วประเทศรวมถึงทุกรัฐวิสาหกิจ แม้แต่มูลนิธิหากรับเงินอุดหนุนจากราชการ สตง.ก็มีหน้าที่ตรวจสอบด้วย สตง.อัตรากำลังก็ไม่พอ เราขอเพิ่มแต่เขาก็ไม่ให้เพิ่ม ขอไป 700 อัตราก็อนุมัติให้มา 100 กว่าคนเท่านั้นเอง ผมเห็นว่ากฎหมายใช้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่กลไกจะทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ตรงนี้อัตรากำลังและเครื่องมือต้องพร้อมด้วย

 

การทำงานของ คตง.กับ สตง.ก็ทำงานกันด้วยดี ทุกคนใน สตง.ทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ ผมเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน มาก็เห็นเจ้าหน้าที่ของ สตง.ดำรงตนไม่แตกต่างจากผู้พิพากษาเลย คือมีความซื่อสัตย์ สุจริต รักสันโดษ เจ้าหน้าที่ของเราจะไม่มีใครถือพวกกระเป๋าแบรนด์เนมเลย ไม่ว่าจะเป็น LOUIS VUITTON หรือ Gucci ทุกคนอยู่แบบสันโดษ สมถะ ผมเคยอยู่องค์กรตุลาการมาก่อน พอมาอยู่ที่ สตง.ก็เห็นเหมือนกัน

 

แนะติดดาบเพิ่มอำนาจ

 

…ผมยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ สตง.ทำงานเพื่อประเทศชาติและทำงานด้วยความเป็นธรรม ตรงนี้เรื่องสำคัญ คือไม่ใช่ไปจับผิดเขาอย่างเดียว บางทีเขาอาจไม่ผิดก็ได้ นโยบายเราจึงให้เป็นการตรวจสอบเชิงแนะนำ ไม่ใช่เชิงจับผิด เพราะบางทีเขาอาจไม่เข้าใจระเบียบ เขาทำผิดพลาดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่รู้จริงๆ แบบนี้เราก็ควรแนะนำเขาให้ทำให้ถูกต้อง แต่หากยังทำผิดอีกเกิดซ้ำอีก แบบนี้ให้อภัยไม่ได้

 

- ที่ผ่านมา การเข้าตรวจสอบแล้วก็ทักท้วงการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน หรือการทำโครงการต่างๆ บางทีก็ไม่ได้รับการตอบรับ ก็เคยมีกรณี สตง.ท้วงติงโครงการรับจำนำข้าว จนถูกมองว่าคตง.-สตง.เป็นเสือกระดาษ?

 

เรื่องโครงการรับจำนำข้าว สตง.ได้ส่งหนังสือท้วงติงไปถึง 4 ครั้งถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย แต่ก็เฉย เมื่อเฉยก็ส่งไปยัง ป.ป.ช. สตง.ได้แต่ตรวจสอบและแจ้งต่อ ป.ป.ช. จริงๆ แล้วเรื่องจำนำข้าวเริ่มต้นจาก สตง.ที่ท้วงไป เรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่องเริ่มต้นจาก สตง.ด้วยซ้ำ

 

ตอนนี้ก็มีการเสนอขอแก้ไขกฎหมายอยู่ว่า ถ้าเราตรวจแล้วเราจะไม่ส่ง ป.ป.ช. เราจะส่งอัยการฟ้องเลยเพราะ ป.ป.ช.ก็มีงานเยอะ เราส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.พันกว่าเรื่องในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. ทำได้ประมาณ 300 เรื่องเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าหากว่าเราสามารถส่งอัยการได้ มันจะเร็วและเราก็ตรวจละเอียด เพราะเราก็มีสำนักตรวจสอบสืบสวนถึง 5 สำนักในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดยังมีอีก 15 สำนักที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนเหมือนกับตำรวจเลย รายงานการสืบสวนสอบสวนของเรามันสมบูรณ์แล้ว เรียกว่าส่งอัยการ อัยการก็ฟ้องได้แล้ว จะมีความจำเป็นต้องให้เราส่ง ป.ป.ช.อีกทำไม ไปส่ง ป.ป.ช.ตามกระบวนการของเขาก็ต้องมาเริ่มไต่สวนอีก ต้องชี้มูลอีก ก็ทำให้ล่าช้า ไม่ต้องเสียเวลาไปส่ง ป.ป.ช. ส่งอัยการฟ้องไปได้เลยก็จะเร็ว ดีกว่าที่เราส่งเรื่องไปสิบกว่าปีแล้ว เรื่องหายเงียบไปเลย ถ้าทำให้เราส่งอัยการได้ ก็จะเหมือนเรื่องรับจำนำข้าวที่หากเราส่งอัยการได้ มันก็เสร็จไปนานแล้ว

 

อย่างตอนที่ผมนำคณะไปเสนอความเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่างรธน. ก็มีเรื่องหนึ่งที่ผมเสนอไปคือ ในเรื่องนโยบายประชานิยมที่อาจะเกิดผลเสียต่อประชาชน ก็ให้ สตง.เสนอ คตง.เพื่อมีมติเสนอให้วุฒิสภายับยั้งโครงการได้ ที่ผ่านมามันไม่มีก็เลยเกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท ถ้ามีมันก็คงไม่เกิดความเสียหายแบบนี้ ที่ผ่านมาเราได้แต่ทำหน้าที่เสนอแนะไปว่าควรจะเลิกไม่ดำเนินโครงการต่อ แต่รัฐบาลไม่ฟัง เขาทำต่อ ก็เกิดความเสียหายขึ้น แต่หากมีกฎหมายให้ คตง.เสนอต่อวุฒิสภาได้และมีการยับยั้ง มันก็อาจจะเป็นทางแก้

 

ที่บอกว่าเป็นเสือกระดาษก็ยอมรับเพราะมีอำนาจเท่านี้ ถ้าเพิ่มอำนาจอย่างที่บอกในการให้เสนอต่อวุฒิสภาก็จะทำให้มีความขลังมากขึ้น

 

พร้อมกันนี้ ประธาน คตง. ยังเห็นด้วยกับแนวคิดการร่าง รธน.ในเรื่องการตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง เช่นแนวคิดที่ กมธ.ยกร่าง รธน.ชุดที่แล้วซึ่งเขียนไว้ว่า ผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 5 ปีก่อนถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง โดยบอกว่าการที่จะให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลังของผู้สมัคร ส.ส.ย้อนหลัง 5 ปี ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะก็จะประกอบกับสิ่งที่ สตง.ดำเนินการ ถ้าเขายื่นแล้วเปิดเผย ประชาชนก็จะได้ทราบและมาเปรียบเทียบได้ ว่า แสดงรายการทรัพย์สินแบบนี้แต่ทำไมเสียภาษีน้อย ประชาชนจะได้ทราบ

 

ประธาน คตง. กล่าวอีกว่า ในการตรวจสอบเงินแผ่นดินนั้น หลังจากเข้ารับตำแหน่ง คตง.ก็ได้มอบนโยบายให้ สตง.ตรวจสอบเชิงปฏิรูปโดยเน้นให้ตรวจสอบใน 3 กรอบหลักๆ ดังนี้

 

1.การใช้จ่ายเงินแผ่นดินของหน่วยรับตรวจที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีด้วยกันประมาณ 80,000 หมื่นหน่วยทั่วประเทศ ว่าใช้จ่ายเงินถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติ ครม.หรือไม่ มีการทุจริตหรือไม่ หากมีการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ตรงนี้จะทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นไปโดยบริสุทธิ์ จะช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้

 

2.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินว่า หน่วยรับตรวจทั้งหมดมีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล คุ้มค่าและประหยัดหรือไม่ อันจะทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีความคุ้มค่าและประหยัด

 

3.ให้ตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและหน่วยรายได้อื่นๆ ของหน่วยรับตรวจ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและมติ ครม.หรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะทำให้การจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ จัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะไม่เป็นแบบขาดดุลอีกต่อไปแต่จะเป็นแบบสมดุลได้

 

การตรวจสอบทั้ง 3 แนวทางดังกล่าวจะเป็นการปฏิรูปหน่วยรับตรวจทั้ง 8 หมื่นหน่วยทั่วประเทศให้ใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างบริสุทธิ์ หารายได้แผ่นดินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน

 

ประธาน คตง. กล่าวต่อไปว่า จาก 3 แนวทางข้างต้นดังกล่าว รูปแบบการตรวจสอบก็จะแบ่งออกเป็น 5 โครงการตรวจสอบ อันประกอบด้วย 1.ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ตรวจสอบสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงสาธารณสุข เช่นไปตรวจสอบว่าทำไมผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาสูง สินค้าเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้บริโภคหรือไม่

 

2.ตรวจสอบการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม โดยตรวจสอบกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นไปดูว่าทำไมจึงมีการบุกรุกทำลายป่า ทำไมป่าเหลือน้อยมาก ตอนนี้เหลือแค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากที่เคยมี 70 กว่าเปอร์เซ็นต์

 

3.ตรวจสอบอาคารสิ่งปลูกสร้าง คือตรวจสอบว่าเหตุใดจึงมีอาคารสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นมาโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก ก็เข้าไปตรวจเช่น กทม., เทศบาล

 

4.ตรวจสอบชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ก็คือการตรวจสอบหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน เพื่อดูว่าปัญหาต่างๆ เช่น ทำไมคนจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัย

 

5.ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นธรรมในสังคม คือการตรวจสอบหน่วยงาน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด, ศาลยุติธรรม เพื่อดูว่ามีการใช้เงินถูกต้องหรือไม่ แล้วเหตุใดจึงมีเหตุอาชญากรรมจำนวนมากและคนไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

“การตรวจสอบของ สตง.จะไม่ใช่การตรวจสอบเพื่อจับผิดอย่างเดียว แต่ตรวจสอบเพื่อให้ข้อเสนอแนะในสิ่งที่หน่วยรับตรวจทำผิด ไม่ทำหรือทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ หากทำตามข้อเสนอแนะของ สตง.ก็จะเป็นการปฏิรูปบ้านเมืองไปในทางที่ดีได้" ประธาน คตง.เน้นย้ำในตอนท้าย.

 

 ที่มา-ไทยโพสต์