"ภาษีพระ" ตอน กิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

สวัสดีครับ หลังจากที่ได้มีการอธิบายถึงประเด็นภาษีพระภิกษุ ไปแล้วถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณา และทิ้งท้ายเรื่องกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ เอาไว้ วันนี้ขอหยิบเรื่องนี้มาอธิบายกันให้เข้าใจถึงภาระภาษีกันสักหน่อย ลองมาทำความเข้าใจร่วมกันนะครับ

จากงานวิจัย ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์ : พุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ในพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติของไทย : กรณีศึกษาวัดในจังหวัดนครปฐม ได้มีการคำนิยามของ พุทธพาณิชย์ ไว้ว่า เป็นกระบวนการค้าขายความเชื่อ และความศรัทธาในพุทธศาสตร์ โดยใช้วัตถุประสงค์หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหรือพระรัตนตรัย มาเป็นเครื่องมือสร้างรายได้แสวงหาผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ กล่าวคือ เป็นการใช้เงินเพื่อแสดงออกซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนกับพุทธศาสนา ที่บ่งบอกถึงความใกล้ชิดและลักษณะความสัมพันธ์ที่มีร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การเช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา การทำบุญพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด การสักการะพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ทอง ที่ทางวัดจัดบริการไว้ให้ 

อ่านถึงตรงนี้แล้วก็พอจะเข้าใจความหมายที่ได้มีการกล่าวถึงพอสมควร คราวนี้จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับการจัดเก็บภาษี ประเด็นนี้คงต้องปล่อยวาง ละพิจารณาตามข้อกฎหมายกันก่อน การให้เช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา สำหรับประเด็นนี้ (สมมติเรื่องราวให้เข้ากันง่าย) บริษัท ก.เช่าพระ จำกัด ร่วมสร้างวัตถุมงคลปลุกเสกโดยเกจิอาจารย์ดัง เปิดให้บุคคลทั่วไปสั่งจอง และเช่าบูชา ในกรณีนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดทำวัตถุมงคล การทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่เกิดขึ้น หากเป็นการกระทำในลักษณะเพื่อกิจการ บริษัทก็สามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาถือเป็นรายจ่ายได้ โดยไม่ต้องห้ามตามความนัยมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร (รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ) ส่วนรายได้ที่ได้จากการบุคคลทั่วไปสั่งจอง และเช่าบูชา ก็จะถือเป็นเงินได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ ต้องนำไปหักค่าใช้จ่าย และนำกำไรสุทธิมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 

สมมติกันต่อว่า หากบริษัทมีเจตนาจะนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปบริจาคให้กับหน่วยงานองค์การ เพื่อการกุศลสาธารณะ เหมือนที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่การบริจาคนั้น จะสามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามความนัยมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการที่จะเข้าข่ายการเป็นพุทธพาณิชย์ ก็อาจจะมีการแฝงประเด็นในเรื่องของการกระทำที่มีลักษณะของการมุ่งแสวงหาผลกำไร เพราะการค้าเกิดจากการลงทุน และประเด็นที่หวังต่อจากการลงทุนก็คือการมีกำไร สำหรับประเด็นนี้ก็ยังไม่กล่าวถึงภาระภาษีที่ไม่ควรมองข้ามอีกประเภทหนึ่งก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ครับ (เกือบลืม) แต่ถ้าหากเป็นการกระทำในลักษณะของบุคคลธรรมดา สมมติหลวงพ่อลงมือให้เช่าเอง แบบนี้หลวงพ่อก็จะมีเงินได้พึงประเมิน ซึ่งจะถือว่าเงินได้ที่มาจากการให้เช่าลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสามารถหักได้ในลักษณะเหมาร้อยละ 80 และหักลดหย่อนของผู้มีเงินได้ และทำการเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ 

ก็อยากฝากท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ให้พึงระลึกถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มากกว่า พระองค์ทรงตรัสสอนอะไรให้กับเรา บางทีเราอาจจะพบคำตอบที่เราตามหาก็เป็นได้ สาธุ