นักวิชาการแนะรัฐใช้มาตรการภาษี ส่งเสริมเอกชนเร่งลงทุน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

 

          ในการเสวนาเรื่อง “ประเทศไทย…คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”  นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตช้า ขยายตัวเพียงร้อยละ 30 หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการเติบโตอัตราที่ต่ำ โดยมาเลเซีย เติบโตร้อยละ 30  อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 60 เวียดนาม ร้อยละ 70 และที่ผ่านมา ประเทศไทยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจผิดทาง โดยรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย ใช้นโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม ทั้งโครงการเช็คช่วยชาติ รถยนต์คันแรก จำนำข้าว คิดเป็นงบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท สูงกว่างบลงทุนของประเทศ แต่ไม่สามารถรักษาอาการป่วยได้ ทำให้เกิดโรคเรื้อรังและสร้างความอ่อนแอให้กับประเทศ ทำให้ประเทศไทย ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยถูกประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม แซงหน้าไปแล้ว

 

          ทั้งนี้ ได้เสนอทางแก้โดยให้เร่งการลงทุน ใช้มาตรการภาษี เพื่อเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เพราะขณะนี้เอกชนกำลังขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ด้วยการให้เอกชนที่ลงทุนสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น โดยเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี เพื่อกระตุ้นให้เอกชนลงทุนทันที เช่น อุตสาหกรรม พลังงาน ยานยนต์ ก่อสร้าง

 

          ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นคนป่วยมานานนับ 10 ปี มีปัญหาคือ ขาดประชากรวัยทำงานที่มีคุณภาพ เพราะระบบการศึกษา แย่ลง จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น คาดว่า อีก 5 ปีจำนวนผู้สูงอายุจะมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แซงหน้าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาแก่ก่อนรวย ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ประเทศไทย มีประสิทธิภาพในการพัฒนาแรงงานต่ำ ขาดการวิจัยและพัฒนา ทำให้แรงงานฟิลิปปินส์สามารถเทียบชั้นกับแรงงานไทยได้แล้ว ทำให้ประเทศไทย กำลังเผชิญกับปัญหาอาการป่วย ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข ด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างเร่งด่วน  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ปฏิรูประบบราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมให้มีการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา

 

          นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า การเร่งจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐนั้น โดยส่วนตัวมองว่า ภาครัฐควรหันมาบริหารจัดการงบประมาณที่ใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าการจัดเก็บรายได้จากภาคประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และการจัดเก็บรายได้ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว

 

          ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพเกษตรกร หากสินค้าเกษตรมีราคาต่ำจะส่งผลให้รายได้ของประชากรลดลง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว

 

          ดังนั้น ภาครัฐบาลควรเน้นแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ทั้งระยะสั้นโดยเร่งแก้ปัญหาต้นทุนภาคการผลิตและการจัดสรรแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอ ตลอดจนยกระดับสินค้าเกษตรไทยเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมเพื่อจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้นเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และ ระยะยาว โดยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งภาษี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิตอล อิโคโนมี่.

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย