ข้อควรระวัง!! กรณีจดทะเบียน VAT เมื่อรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ในการดำเนินธุรกิจทุกประเภทนั้น การเสียภาษีให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นการป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอีกหนึ่งภาษีที่มีความสำคัญ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ (ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) และมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ซึ่งรายรับดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างปีภาษีผู้ประกอบการต้องนำรายรับมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณเสียภาษีจากรายรับส่วนที่เกิน 1,800,000 บาท[1]

 

ตัวอย่างที่ 1

บริษัท ก  ปี 2556 มีรายรับ 1,000,000 บาท ปี 2557 สิ้นเดือนตุลาคม มีรายได้ครบ 1,800,000 บาท ตลอดทั้งปีมีรายรับ 2,000,000 บาท ในปี2557 บริษัท ก  ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดที่เกิน 1,800,000บาท คือ 200,000 x 7%

 

สำหรับการนับจำนวนมูลค่าของรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการและมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปีหรือไม่นั้น ให้นับจำนวนมูลค่าของรายรับที่เกิดขึ้นในแต่ละปี (กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้นับเป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี) ถ้ามีรายรับไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนปีต่อไปก็เริ่มนับมูลค่าของรายรับใหม่ กล่าวคือให้นับเป็นปีๆ ไป

แต่อย่างไรก็ตามหากบริษัท ก มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการและมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาท ปีใด ในปีต่อๆ มาไม่ว่า บริษัท ก ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการที่เกิดขึ้นตั้งแต่บาทแรกโดยไม่คำนึงว่า บริษัท ก จะมีรายรับเท่าไร และได้ดำเนินการจดทะเบียนภาษีมีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่

 

ตัวอย่างที่ 2

จากตัวอย่างที่ 1 หากปี 2558 บริษัท ก มีรายรับเพียง 1,000,000 บาท บริษัท ก ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่ามีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาท ก็ตาม

ในกรณีที่ บริษัท ก มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี แล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน[2] นับแต่วันที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าว

 

ตัวอย่างที่ 3

จากตัวอย่างที่ 1 บริษัท ก ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557

 

ผลทางกฎหมายในกรณีที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องก็คือ                                                                                            

1) บริษัท ก จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตนเอง โดยไม่สามารถเรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ และไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้เนื่องจากตนยังไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม[3] แม้จะได้ดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่วันแรกที่มีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ไปจนถึงวันที่บริษัท ก ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น บริษัท ก ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากฐานรายได้ส่วนที่เกิน 1,800,000 บาท โดยไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้      เนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้

 

ตัวอย่างที่ 4

จากตัวอย่างที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายนซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนั้น บริษัท ก มีรายรับเข้ามา 1,000,000 บาท บริษัท ก ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเอง โดยไม่สามารถออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าได้

2) บริษัท ก. ยังต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า[4]ของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นเงิน 1,000 บาทต่อเดือนภาษีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ[5]

3) บริษัท ก ไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนเองถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บมาถือเป็นภาษีซื้อหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียได้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อ[6]

จากผลทางกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้ที่เริ่มดำเนินธุรกิจควรพิจารณาว่าธุรกิจที่ตนทำนั้นเป็นกิจการประเภทใด และกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ควรวางแผนในการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เพราะหากเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบภายหลัง ก็จะทำให้ต้องชำระภาษีมากกว่าที่ควรจะต้องเสีย ภาษีถือเป็นต้นทุนสำคัญของการทำธุรกิจ ดังนั้นการวางแผนเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

 

-------------------------------

[1] มาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548

[2] มาตรา 85/1 (1)แห่งประมวลรัษฎากร

[3] มาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร

[4] มาตรา 89 (1)แห่งประมวลรัษฎากร

[5] มาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร                     

[6] มาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร