ควรเตรียมความพร้อมประเด็นใด เมื่อก้าวสู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน สำหรับนักบัญชี Gen Y

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          กาลเวลาช่างหมุนเวียนไปรวดเร็วเสียจริง จนบางท่านลืมไปเลยว่านับ ๆ ดูอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็จะเข้าสู่การเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน อย่างเป็นทางการแล้ว บางท่านอาจจะยังงงอยู่ว่า เปิดอาเซียนแล้วยังไง? จะเกี่ยวอะไรกับการทำงานของเรา? จำเป็นต้องเดือดร้อนด้วยหรือ? เอาล่ะครับหลายคำถามที่ค้างคาใจ ผมอาจจะตอบถึงข้อดีข้อเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้  แต่วันนี้ผมเองได้รับเกียรติจากผู้มีประสบการณ์ตรง ที่สามารถตอบคำถามมากมายเหล่าได้เป็นอย่างดี มาบอกเล่าเก้าสิบกันว่า ทิศทางอนาคตจะเป็นอย่างไร? และนักบัญชีไทยต้องทำอย่างไรจึงจะแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน

 

          อย่างที่กล่าวข้างต้น ถือได้ว่าโอกาสพิเศษจริงๆ ที่ผมได้รับเกียรติจาก สมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ ให้เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ คุณศิริรัฐ โชติเวชการ นายกสมาคมฯ บุคลากรคุณภาพผู้ที่มากด้วยประสบการณ์ในการทำงานด้านบัญชี ประสบการณ์ในการศึกษาดูงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ กอปรเป็นผู้ให้บริการงานด้านบัญชีกับลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อย่ากระนั้นเลยครับ เรามาติดตามบทสัมภาษณ์กันเลยดีกว่า

 

          Q: สวัสดีครับขออนุญาตเริ่มคำถามเลยนะครับ ในฐานะนายกสมาคมฯ มองวิชาชีพบัญชี ในปัจจุบัน และอนาคต เป็นอย่างไร?

          A: พี่ต้องเรียนอย่างนี้นะคะ ต้องเล่าถึงอดีตที่ผ่านมาก่อนว่าพี่เคยทำงานที่ บริษัท มินีแบ ซึ่งนโยบายด้านการบัญชีของ เขาคือให้ทำการปิดบัญชีทุกเดือน เหตุเพราะผู้บริหารเห็นความสำคัญของบัญชี และข้อมูลทางการบัญชีมาก การที่บริษัทจะดำเนินการใดๆ จะต้องนำข้อมูลทางบัญชีมาประกอบการตัดสินใจเสมอ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาดูธุรกิจส่วนใหญ่ ในประเทศไทย นักบัญชีกับเป็นเพียงแค่ผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีให้เสร็จตามกำหนดเวลา เสร็จตามกรอบของกฎหมายที่วางไว้ ปิดบัญชีเพียงปีละครั้ง ซึ่งก็แน่นอนว่าข้อมูลที่ได้ก็ไม่เป็นปัจจุบัน และนอกจากนั้นก็ไม่สามารถนำข้อมูลทางการบัญชีมาใช้ในการวางแผน หรือประกอบการตัดสินใจใดๆ ได้  ทั้งหมดนี้จึงทำให้พี่เองอยากผลักดันให้นักบัญชีหันมามองในภาพของ ‘บัญชีบริหาร’ ให้มากขึ้น เพราะถ้าเจ้าของกิจการ SMEs ในบ้านเรารู้จักใช้ประโยชน์ของบัญชีบริหาร และนักบัญชีของเรามีความเข้าใจและสามารถตอบสนองในเรื่องนี้เป็นอย่างดีด้วย จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้นเชื่อได้ว่าในอนาคตวิชาชีพบัญชีจะมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ อย่างแน่นอน

 

          และพี่อยากจะบอกอย่างนี้ว่า ยิ่งอนาคตจะเกิด AEC ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าใน AEC จะมีการลงทุนมากขึ้น มีการร่วมทุน หรือแม้แต่เราก็จะมีการไปลงทุนที่อื่น ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของงบการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ นักบัญชีจึงจะมีบทบาทมากขึ้น พี่มองอนาคตว่าภาพของบัญชีบริหารจะมีความสำคัญมากขึ้นด้วย เพราะต่างชาติที่มาลงทุนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของบัญชีบริหาร และเมื่อมองย้อนมาดูถึงมาตรฐานการบัญชีในปัจจุบัน ที่มีการนำเอาของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เป็นสากล เขาก็จะไปเน้นการรายงานทางการเงินที่พยายามสะท้อนภาพเชิงเศรษฐกิจให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

          ในปีที่ผ่านมา พี่ก็ได้มีการพาสมาชิกของสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ ไปศึกษาดูงานธุรกิจ Outsource ด้านบัญชี ในประเทศศรีลังกา และเห็นว่าศรีลังกา เป็นประเทศที่เน้นการทำธุรกิจ Outsource ทางด้านบัญชี ซึ่งเดิมประเทศอินเดียเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจบริการด้านบัญชี Outsource โดยให้บริการกับกลุ่มประเทศยุโรป และอเมริกา แต่ในขณะเดียวกันศรีลังกา เป็นประเทศที่เริ่มขึ้นใหม่ ก็พร้อมจะเอาใจ ผู้รับบริการในทุก ๆ ด้านเพราะเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้บริการบัญชีเพื่อการส่งออกเพื่อช่วยในการเพิ่มรายได้ประชาชาติ ซึ่งเมื่อศึกษาจริง ๆ จะเห็นได้ว่าสำนักงานบัญชี ในประเทศอินเดีย และศรีลังกา นั้น ในเนื้องานด้านบัญชีจะไม่ได้มุ่งเน้นการบันทึกรายการแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นบริการด้านการอ่านงบการเงิน วิเคราะห์งบการเงินอีกด้วย และปัจจุบันศรีลังกา เองมีจำนวนนักบัญชีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศอังกฤษ เมื่อพูดถึง Service Mind อาจจะไม่สู้ประเทศไทยไม่ได้ แต่ Efficiency (ประสิทธิภาพ) ของศรีลังกาดีมากเพราะเขามีระบบการควบคุมงานที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ระบบการรับเอกสาร บุคคลที่รับผิดชอบงานในแต่ละจุด รวมถึงมีระบบการติดตามการทำงานว่าขณะนี้งานอยู่ในกระบวนใด มีการตั้งเป้าหมายการทำงาน (Target) ที่ชัดเจนว่าจะเสร็จเมื่อใด และจริงแล้วทำเสร็จภายในเมื่อใด ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเองอาจจะยังไม่มีการจัดระบบการทำงานถึงขนาดนั้น ทำให้เราเองยังด้อยกว่าเขาเช่นกัน ที่พูดมานี้เพื่ออยากให้เห็นว่าหากประเทศไทยสามารถพัฒนาวิชาชีพบัญชีให้เป็นบริการบัญชีเพื่อการส่งออกได้ อนาคตของวิชาชีพนี้จะก้าวหน้าและจะยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น 

 

          Q: เรื่องใดบ้างที่นักบัญชีไทยยังถือเป็นจุดอ่อน และประเด็นใดบ้างที่ถือเป็นจุดแข็ง แล้วนักบัญชีควรเตรียมความพร้อมด้านใด?

          A: จุดอ่อนที่น่าเป็นห่วงอย่างแรกเลย คือภาษา เพราะการลงทุนจะมีทั้งเราลงทุนในต่างประเทศ หรือต่างประเทศมาลงทุนในไทย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พี่มองว่านักบัญชีควรจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้มีความสามารถทางด้านภาษาที่ดี ไม่เช่นนั้นอนาคต นักบัญชีไทยก็จะตกไปอยู่ท้าย ๆ โอกาสที่จะถูกแย่งงานก็จะตามมาเช่นกัน

 

          ประเด็นที่สองคือ ความรู้เกี่ยวกับบัญชีบริหาร การรู้จักนำข้อมูลทางการบัญชีที่ได้มาใช้ในการบริหารงาน ซึ่งจะเห็นได้จากกิจการหลายแห่งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับข้อมูลทางการบัญชี นักบัญชีจะต้องดำเนินการปิดงบทุกเดือน เพื่อนำตัวเลขที่ได้มาทำการวิเคราะห์ หรือวางแผนการทำงานต่อไป ลองพิจารณาจากกฎ 80:20 จะเห็นได้ว่ามีนักบัญชีเพียงแค่ ร้อยละ 20 ที่สามารถทำได้ ซึ่งพวกนี้ก็จะอยู่ในหน่วยงานตามที่ได้กล่าวมา ส่วนร้อยละ 80 นั้นเป็นกลุ่มที่ต้องพัฒนา ซึ่งนักบัญชีไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนาในจุดนี้เช่นกัน พี่อยากให้ลองทบทวน และลองถามว่าทำไม? คนอื่น หรือนักบัญชีประเทศอื่นทำได้ แต่ทำไมนักบัญชีไทยบอกทำไม่ได้ อันนี้เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งเช่นกัน

 

           ประเด็นที่สาม ที่พี่มอง คือ ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ ที่เป็นระบบสากล ซึ่งเรื่องนี้อยากให้มองอนาคตว่า ถ้าหากมีนักลงทุนจากต่างชาติต้องการจะมาร่วมทุนด้วย เขาก็ต้องอยากดู อยากเข้าใจ อาจจะไม่ต้องนึกถึงโปรแกรมอะไรที่แพงมากมายนัก แต่อยากให้นึกถึงโปรแกรมที่ค่อนข้างเป็นสากล และได้รับการยอมรับในเรื่องประสิทธิภาพด้วย

 

          ประเด็นสุดท้ายที่มองคือ ความสามารถในการทำงานข้ามประเทศ เพราะนักบัญชีไทย มักมีข้อจำกัดในการทำงาน ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ อย่างรับสมัครนักบัญชี เพียงแค่มีเงื่อนไขต้องทำงานต่างจังหวัด ก็มักจะได้รับการปฏิเสธว่าไม่สามารถที่จะไปได้ อาจจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้โอกาสในการได้งาน หรือโอกาสในการเติบโตก็คงยาก ซึ่งถ้ามองนักบัญชีประเทศอื่น การทำงานข้ามประเทศของเขา เป็นเรื่องธรรมดามาก และเงื่อนไขแบบนี้อาจทำให้อนาคตนักบัญชีรุ่นใหม่เสียโอกาสในการแข่งขันอย่างมาก 

 

           คราวนี้ถ้ามองถึงจุดแข็ง พี่มองจากส่วนใหญ่ที่พี่ได้มีโอกาสสัมผัส เมื่อเขาเหล่านั้นเข้ามาทำงานบัญชีจะเห็นได้ว่าเขามีความรักในวิชาชีพบัญชี และที่สำคัญคือยึดถือการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพมาก ถ้าเทียบสัดส่วน 80:20 คิดว่าร้อยละ 80 มีจุดแข็งอย่างที่กล่าวมา แต่ในจุดแข็งนี้ก็ยังมีข้อที่น่าเป็นห่วงคือ นักบัญชีไทยที่พบมักจะมีลักษณะ “แข็งในหลักการ และแข็งในท่าที” ด้วย ซึ่งมักเกิดกับนักบัญชีไม่รู้จักการประสานงานที่ดี หรือขาดความเข้าใจในธุรกิจอย่างแท้จริง “สิ่งนั้นทำไม่ได้ สิ่งนี่ทำไม่ได้” แต่ลืมมองไปว่า ทำไม่ได้แล้วธุรกิจจะเดินไปได้อย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่นักบัญชีบางคนที่เป็นเช่นนี้จะต้องปรับลักษณะท่าทีของตนเอง เรื่องนี้คงต้องค่อย ๆ ปรับกันไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าถ้าได้ปรับก็จะดีขึ้นเอง

 

           อีกอย่างคือจุดแข็งที่พี่มองว่านักบัญชีควรเพิ่มเติมอย่างมาก คือ มุมมองทางธุรกิจ และทักษะมุมมองทางด้านการบริหารงาน ซึ่งหากนักบัญชีสามารถเพิ่มเติมในจุดนี้ได้นอกจากการปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งแล้ว ก็จะทำให้นักบัญชีสามารถเพิ่มมูลค่าของตนเองในการทำงานได้อีกด้วย

 

            Q: ในฐานะนายกสมาคมฯ คิดว่าการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน จะมีผลดีหรือผลเสียต่อนักบัญชีไทยอะไรบ้าง 

และมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานจะมีหรือไม่?

            A: สำหรับประเด็นนี้ พี่มองว่า ปัญหาที่จะเกิดแน่นอนคือการแย่งตัว เพราะนักบัญชีที่เก่ง ๆ มีความรู้ทั้งทางวิชาชีพ มุมมองทางธุรกิจ ภาษา และสามารถทำงานข้ามประเทศได้ ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนในทางตรงกันข้าม นักบัญชีที่ไม่สามารถทำได้อย่างนั้น ก็จะมีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งงาน โดยชาติอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ก็จะเข้ามาแทนที่ หรือไม่ก็อาจจะถูกแย่งงานโดย Outsource งานด้านบัญชี ซึ่งกลุ่มOutsource ที่พูดถึงนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนาบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริหารได้อย่างทันท่วงที รวมถึงมีการพัฒนาคุณภาพบริการ โดยการใช้ Software Online ที่ได้ข้อมูลเพื่อการบริหารแบบ Real Time อย่าลืมว่ายิ่งปัจจุบันการติดต่อสื่อสารมีช่องทางมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ e-mail เท่านั้น ยังสามารถใช้การติดต่อกันผ่าน Skype หรือ Line ที่สะดวกและสามารถ (Monitor) ตรวจสอบรายการต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกใจที่ Social Media จะเข้ามามีบทบาทต่อการปฏิบัติงานด้านบัญชีในอนาคต

 

          พี่มองต่อไปว่าอนาคตเมื่อการปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้มีการสรรหา Outsource หรือบุคลากรที่ค่าตอบแทนต่ำ มาปฏิบัติงานแทน นักบัญชีอาจจะต้องขยับบทบาทขึ้นไปเป็น Consultant ด้านบัญชี ซึ่งบทบาทนี้ จากการวิจัยของต่างประเทศพูดถึงว่าอนาคตนักบัญชี จะต้องปรับทิศทางโดยแสดงความสามารถในบทบาทที่ตนเองถนัด ถ่ายทอดผ่านช่องทางต่างๆ บน Social Media เช่น blog หรือ You Tube เพื่อแสดงความรู้ในสาขา ที่ตนเองถนัด หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตนเองมีความรู้ ประสบการณ์ เปิดเป็นสาธารณะให้ทุกคนได้มีโอกาสรู้จัก ถ่ายทอดความเป็น Specialist ในด้าน หรือสาขานั้น ๆ การทำลักษณะนี้ก็จะทำให้มีโอกาสได้งานมากขึ้นในอนาคต เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าทิศทางจากอดีตมันเปลี่ยนแปลงไปการเปิดตัวเองให้คนอื่นได้รู้จักในปัจจุบันนี้มีช่องทางมากขึ้น ต่างกับอดีตการจะเป็น Specialist ได้จะต้องเขียนตำรา เขียนผลงานวิชาการ แต่ปัจจุบันนี้แทบไม่ต้องหาช่องทางแบบนั้นแล้ว ดังนั้นนักบัญชีในยุคนี้เองก็ควรจะให้ความสำคัญ และให้ความสนใจเรียนรู้ Social Media เหล่านี้ด้วย

 

           และส่วนตัวพี่มองต่อไปอีกว่านักบัญชีรุ่นใหม่ Gen Y น่าจะต้องเปลี่ยนวิธีการจากเดิมที่ใช้ Social Media เพียงเพื่อกิจกรรมสันทนาการกับตนเอง หันมามองเอาความได้เปรียบที่ตนเองรู้ เข้าใจ และใช้เทคโนโลยีเป็น มาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองให้สามารถเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างนี้ถึงจะได้ชื่อว่าเป็น “นักบัญชีรุ่นใหม่” 

 

           Q: สำหรับนักบัญชียุคใหม่ Gen Y ควรเตรียมความพร้อมด้านใดบ้าง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานและตลาดอาเซียนได้?

           A: พี่มองว่า นักบัญชี Gen Y นอกจากการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาชีพ ความพร้อมทางด้านภาษาแล้ว สิ่งที่ควรจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างยิ่งเลยก็คือ เรื่องการปรับตัว และปรับความเข้าใจต่อการทำงานร่วมกับคนในสังคม รวมถึงการจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบวินัยของหน่วยงาน หรือองค์กร มีความรับผิดชอบต่องาน และหน้าที่ที่มอบหมาย พี่มองว่าเด็ก Gen Y น่าจะต้องรีบปรับตัวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

 

          เพราะเท่าที่เคยศึกษางานวิจัยของต่างประเทศ ประกอบกับความเชื่อส่วนตัวว่าในอนาคตข้างหน้า ด้วยแนวทางการทำงานที่เปลี่ยนไปมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบ Lifestyle ของนักบัญชี Gen Y ทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย จะทำงานแบบ Work- Life Balance อนาคตภาพที่นั่งทำงานกันหามรุ่งหามค่ำก็คงไม่มีให้เห็น ดังนั้นหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ อาจจะต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการปรับนโยบายการปฏิบัติงาน โดยไม่กำหนดว่าจะปฏิบัติงานครบ 8 ชั่วโมงหรือไม่ก็ได้ หรือการเข้าทำงานในออฟฟิตจะเข้าทุกวันหรือไม่ก็ได้ หรือแม้แต่จะเป็นลักษณะของ Work at home ก็ตามแต่ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีกรอบกำหนดภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เมื่อคุณได้รับมอบหมายงานไปแล้วจะต้องปฏิบัติให้เสร็จตามกำหนดเวลาที่วางแผนไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปัจจุบันก็มีเกิดขึ้นบ้างแล้ว โดยเราก็นำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ 

 

           Q: จะเป็นผลดีหรือไม่กับสำนักงานบัญชี สำหรับการเข้าร่วมกับสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ?

           A: พี่ต้องเรียนอย่างนี้ว่า เป็นผลดีแน่นอน สำหรับการเข้าร่วมกับสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ สิ่งหนึ่งที่จะได้รับเลยก็คือ สำนักงานบัญชีของท่านจะถูกรับรองว่าเป็นหน่วยงาน หรือองค์กรที่ให้บริการด้านบัญชีที่มีคุณภาพ โดยได้รับการรับรองคุณภาพจากสมาคมฯ และจะเป็นเครื่องการันตีถึงความมีประสิทธิภาพของการให้บริการด้านงานบัญชีกับลูกค้า เพราะการจะเป็นสำนักงานบัญชีคุณภาพได้นั้น ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมถึงได้รับการตรวจสอบกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน ซึ่งหน่วยงานที่ตรวจสอบจะเป็นจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โดยจะเข้าตรวจสอบทุกปี และครบปีที่ 3 จะมีการตรวจใหญ่อีกครั้ง ทำให้มั่นใจได้ว่าสำนักงานบัญชีคุณภาพนั้นจะให้บริการได้อย่างน่าเชื่อถือ ท้ายสุดนี้ ก็ขอเชิญชวนท่านที่สนใจ ให้เริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมโครงการต้นกล้าสำนักงานบัญชีคุณภาพก่อน เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นสำนักงานบัญชีคุณภาพต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dbd.go.th ค่ะ

 

          ผมและทีมงาน CPD&Account ขอขอบพระคุณคุณศิริรัฐ  โชติเวชการ นายกสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ ที่ได้ให้เกียรติกับทีมงาน สละเวลาอันมีค่าแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ให้กับทุกท่าน จากบทสัมภาษณ์พิเศษที่ผมได้เก็บมาฝากนักบัญชีมืออาชีพครั้งนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกท่านได้พัฒนาคุณภาพงานบัญชีต่อไป และหวังต่อไปอีกว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำไปปรับแผนการทำงานด้านบัญชีบริหารให้ได้ข้อมูลเพื่อการบริหารที่ประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน สำหรับเดือนนี้ผมคงต้องลาไปแล้วล่ะครับ ไว้มีโอกาสจะหาบทสัมภาษณ์ดี ๆ มาฝากทุกท่านในโอกาสต่อไป ขอบคุณเพื่อนร่วมวิชาชีพมีใจรักในวิชาชีพบัญชีทุกท่าน ^_^ สวัสดีครับ...