เก็บภาษีพระ เมื่อ "พระภิกษุ" มิใช่บุคคลที่ได้รับการยกเว้น..ภาษี

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

อันดับแรกครับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ได้มีการให้ความหมายเกี่ยวกับสภาพบุคคลไว้ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิ

ต่าง ๆ ได้ หากภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก” ดังนั้น ถ้าหากพิจารณาว่าพระภิกษุท่านมีสภาพความเป็นบุคคลหรือไม่ คำตอบคือใช่ครับ ท่านมีสภาพของความเป็นบุคคลตามกฎหมาย แต่มีเพียงแค่ประเด็นเดียวที่พระภิกษุท่านมีสิทธิที่ถูกจำกัดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ข้อ (2) ได้กำหนดว่าพระภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (ซึ่งถ้าศึกษาแล้วกฎหมายก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะไม่ต้องเสียภาษีนะครับ)

อันดับที่สอง เมื่อเรารู้จักสภาพของบุคคลแล้ว คราวนี้เรามาทำความเข้าใจกันต่อว่า แล้วใครบ้างมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำตอบก็คือ บุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ครับ


ซึ่งเมื่อเราพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษี เราก็จะพบว่า พระภิกษุไม่ได้เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างไรใด 

 

1. บุคคลธรรมดา

2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 

อันดับที่สาม รายได้ที่จะต้องมาเสียภาษี โดยปกติ หากเป็นบุคคลธรรมดาการเสียภาษี ก็จะเสียจากเงินได้พึงประเมิน หรือเสียจากรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เมื่อพิจารณาประเด็นของพระภิกษุจะเห็นได้ว่า เงินได้ที่ท่านได้รับนั้นท่าน พระภิกษุท่านมิได้ทำมาหากินโดยการไปให้บริการหรือซื้อขายสินค้า ท่านก็จะมีเงินได้จากการทำบุญตามที่ญาติโยมอนุโมทนาถวายให้เป็นปัจจัย ซึ่งก็มีทั้งปัจจัยที่เป็นเงิน และเป็นสิ่งของ ซึ่งเกิดจากการที่ท่านออกบิณฑบาตร โปรดญาติโยม หรือได้จากการที่มีกิจนิมนต์ ไปสวดที่นั่นที่นี่ทั้งงานมงคลและอวมงคล ก็ว่ากันไป แต่กฎหมายก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้นครับ เพราะเงินเหล่านี้ตามกฎหมายถือเป็น “เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา...ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี” ซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 42 (10) ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด เพราะญาติโยมอนุโมทนาถวายเพื่อทำนุบำรุพระศาสนา

ซึ่งประเด็นนี้ เราจะต้องแยกให้ออกว่าเงินได้ หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านว่ารายได้ ดังกล่าวมายังไม่เข้าข่ายของการเป็นรายได้ แต่หากหลวงพ่อ หลวงพี่ นำเงินที่ญาติโยมนำมาถวายไปทำประโยชน์อื่นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ ดอกผลงอกเงย ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปเสียภาษีตามกฎหมายครับ เช่น การนำเงินที่ได้มาไปฝากธนาคาร และได้รับดอกเบี้ย หรือเอาไปทำธุรกิจค้าขายแล้วเกิดมีกำไร มีรายได้ ประเด็นนี้ก็เสียภาษีครับ 

ประเด็นที่น่าสนใจที่เคยมีการหารือไปยังกรมสรรพากร และมีการวินิจฉัยออกมาตามหนังสือที่ กค 0811/9414 ในประเด็นที่พระภิกษุ มีหน้าที่การงานที่ต้องปฏิบัติ แล้วมีการได้รับเงินอุดหนุนจากการทำหน้าที่การงานนั้น ในลักษณะของเงินเดือน ซึ่งในกรณีนี้ถือว่า พระภิกษุรูปนั้นท่านมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือเป็นเงินเดือน และมิได้รับการยกเว้น

เราจะเห็นได้ว่าจากข่าว ที่มีประเด็นพูดกันนั้นหากท่านไม่ได้นำเงินไปก่อเกิดประโยชน์ หรือลงทุนเพื่อหาประโยชน์ท่านก็ยังถือว่าไม่มีเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีครับ ดังนั้นญาติโยมสาธุชน ก็สบายใจแทนหลวงพ่อ หลวงพี่กันได้เลยครับ ส่วนประเด็นการจัดกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ เดี๋ยวมาต่อกันรอบต่อไป ติดตามกันด้วยนะครับ