พ่อแม่เฮ... รับเงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดเพิ่ม 600 บาท

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวดี ! สำหรับคุณพ่อคุณแม่ รับเงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดเพิ่ม 600 บาท เริ่มลงทะเบียนเด็กแรกเกิดรายใหม่ 31 พฤษภาคม 2562 นี้

‘โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด’ เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการของรัฐบาลเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรในครอบครัวที่ยากจนและเสี่ยงต่อความยากจน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการของโครงการและมีการอนุมัติงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2558
ล่าสุดในปีงบประมาณ 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินช่วยเหลือเป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน และขยายช่วงเวลาจ่ายเงินจนถึงอายุ 6 ขวบ พร้อมปรับฐานรายได้ผู้มีสิทธิ์จากเดิม 36,000 บาท เป็นไม่เกิน 100,000 บาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร.0-2255-5850-7 ต่อ 121,122,123,147 และ 0 -2651-6534 หรือสามารถตรวจสอบสิทธิ์และยื่นลงทะเบียนที่ https://csg.dcy.go.th/


ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรอยู่ในความดูแลยังสามารถเช็กสิทธิประโยชน์อื่นที่ได้รับจากหน่วยของรัฐบาลเพิ่มได้ดังนี้

1. กรมสรรพกร
1.1 ค่าลดหย่อน
• กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายใช้สิทธิได้เท่าจำนวนบุตรจริงคนละ 30,000 บาท
• กรณีบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียวได้สูงสุด 3 คนๆ ละ 30,000 บาท
• ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนเพิ่มคนละ 60,000 บาท
ตัวอย่างเช่น
กรณี นาง ก.มีบุตรในความดูแลและเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 4 คน แต่ละคนเกิดในปี 2552 2557 2559 และ 2561 ตามลำดับ
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ดังนี้ = 30,000 + 30,000 + 30,000 + 60,000 รวมหักลดหย่อนได้เท่ากับ 150,000 บาท
กรณีที่ปี 2561 เป็นท้องแฝด ได้สิทธิค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมหักลดหย่อนได้เท่ากับ 210,000 บาท***

1.2 ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถนำค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท ต่อปี แต่สำหรับการตั้งครรภ์ลูกแฝดจะยังนับเพียงท้องเดียว โดยมีเงื่อนไขดังนี้
• กรณีสามีและภรรยายื่นภาษีรวมกันให้สิทธิคนที่ยื่นภาษีเป็นหลักได้ใช้สิทธิ แต่หากแยกยื่นให้สิทธิคนเป็นภรรยาใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
• กรณีฝากครรภ์และทำคลอดในปีถัดไป ให้ปีที่ฝากครรภ์และยื่นภาษีได้สิทธิตามจำนวนที่จ่ายจริงหากใช้สิทธิไม่ถึง 60,000 บาท ให้นำสิทธิคงเหลือไปใช้สิทธิในการคลอดบุตรในปีถัดไป
ตัวอย่างเช่น นาง ก. ตั้งครรภ์ในปี2561 และได้จ่ายค่าฝากครรภ์ไปทั้งสิ้น 35,000 บาท และในปีถัดไป 2562 จ่ายค่าคลอดบุตร อีกจำนวน 50,000 บาท นางก.สามารถใช้สิทธิในปี2562ได้เพียง 25,000 บาท แต่หากต่อมาในปีเดียวกัน นางก ตั้งครรภ์และคลอดบุตรอีกก็ยังสามารถใช้สิทธิในการท้องครั้งนี้ได้อีกจำนวน 60,000 บาท
• กรณีหากคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิเบิกสวัสดิการ บัตรทอง หรือ บัตรประกันสังคม สิทธิสวัสดิการของบริษัท รวมถึงสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องใช้สิทธิสวัสดิการดังกล่าวการจนครบก่อนส่วนที่เกินถึงจะนำมาหักลดหย่อนได้เพิ่มตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมแล้วไม่เกิน 60,000 บาทเช่นกัน
ตัวอย่างเข่น นางก.ได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรทั้งสิ้น 80,000 บาท โดยใช้สิทธิเบิกสวัสดิการประกันสังคมไปแล้วจำนวน 35,000 บาท นางก.ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้อีกเพียง 25,000 บาทเท่านั้น

2. สำนักงานประกันสังคม
2.1 เงินสงเคราะห์บุตร เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยสิทธิที่จะได้รับคือเงินสงเคราะห์บุตรเป็นเงินเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
• ต้องเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 และ 39
• จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน
• ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
• มีบุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
• กรณีคุณพ่อหรือผู้ประกันตนชายเป็นผู้ใช้สิทธิจะต้องมีสำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

2.2 ค่าคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิเบิกค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง โดยต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

• จ่ายงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
• สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
• กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง