ทำอย่างไร เมื่อท่านปิดอากรแสตมป์บนตราสารไม่ครบ?

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

ในบทความที่แล้วผู้เขียนได้เขียนอธิบายถึงเรื่อง เกิดอะไรขึ้นเมื่อท่านปิดอากรแสตมป์บนตราสารไม่ครบ ? ซึ่งผลการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบก็คือ ท่านต้องเสียเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด ดังจะเห็นได้ว่าการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนก่อให้เกิดรายจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ยิ่งถ้ามูลค่าของสัญญามีจำนวนมาก ค่าอากรและเงินเพิ่มที่ต้องเสียก็มากตามไปด้วย แต่ท่านมีทางออกเพื่อขอลดเงินเพิ่มอากรอยู่บ้าง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 ( พ . ศ . 2512) คือ ทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานโดยชี้แจงแสดงเหตุผลที่มิได้ปิดอากรแสตมป์โดยสุจริต มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร และยินยอมชำระเงินเพิ่มอากรภายใน 10 วัน นับแต่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ซึ่งหากเหตุผลที่อ้างเป็นเหตุอันสมควร ท่านก็มีโอกาสบรรเทาความเสียหายดังกล่าวได้

 

สำหรับการขอลดเงินเพิ่มอากรสามารถแบ่งตามกรณีการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามบทความครั้งก่อน ได้ดังนี้

 

1. กรณีตรวจพบความผิดเอง1

 

กรณีนี้ ผู้มีหน้าที่ปิดอากรไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนเกินกว่า 15 วัน โดยมี 2 กรณีดังนี้

 

( ก ) กรณีตรวจพบเมื่อพ้น 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน ต้องเสียเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าของจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า2

 

ตัวอย่าง กรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้เป็นค่าอากร 1 บาท หากสัญญาจ้างทำของ 10,000 ท่านต้องปิดอากร 10 บาท

 

- กรณีที่ปิดอากรไม่ครบ

 

หากท่านปิดอากรเพียง 6 บาท ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ (10 - 6) X 2 เท่า = 8 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 4 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 8 = 12 บาท

 

แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ท่านจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเพียงร้อยละ 20 ของเงินเพิ่มอากร คือ 8 X 20% = 1.6 บาท

 

ดังนั้น ท่านต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรรวมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 1.6 = 5.6 บาท

 

- กรณีที่ไม่ปิดอากรเลย

 

หากท่านไม่ปิดอากรเลย ท่านต้องเสียอากรเงินเพิ่มอากร คือ 10 X 2 เท่า = 20 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 10 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 10 + 20 = 30 บาท

 

แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ท่านจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเพียงร้อยละ 25 ของเงินเพิ่มอากร คือ 20 X 25% = 5 บาท

 

ดังนั้น ท่านต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรรวมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 10 + 5 = 15 บาท

 

( ข ) กรณีตรวจพบเมื่อเกิน 90 วันนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน ต้องเสียเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าของจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า 3

 

ตัวอย่าง กรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้เป็นค่าอากร 1 บาท หากสัญญาจ้างทำของ 10,000 ท่านต้องปิดอากร 10 บาท

 

- กรณีที่ปิดอากรไม่ครบ

 

หากท่านปิดอากรเพียง 6 บาท ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ (10 - 6) X 5 เท่า = 20 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 4 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 20 = 24 บาท

 

แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ท่านจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเพียงร้อยละ 20 ของเงินเพิ่มอากร คือ 20 X 20% = 4 บาท

 

ดังนั้น ท่านต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรรวมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 4 = 8 บาท

 

- กรณีที่ไม่ปิดอากรเลย

 

หากท่านไม่ปิดอากรเลย ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ 10 X 5 เท่า = 50 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 10 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 50 + 10 = 60 บาท

 

แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ท่านจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเพียงร้อยละ 25 ของเงินเพิ่มอากร คือ 50 X 25% = 12.5 บาท

 

ดังนั้น ท่านต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรรวมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 10 + 12.5 = 22.5 บาท

 

2. กรณีบุคคลอื่นตรวจพบความผิด4

 

กรณีบุคคลอื่นไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานสรรพากร หรือจากการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานสรรพากรหรือนายตรวจเมื่อเห็นว่ามีเหตุสมควร โดยเจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรนั้นจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสียหรือขาด หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

 

ตัวอย่าง กรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้เป็นค่าอากร 1 บาท หากสัญญาจ้างทำของ 10,000 ท่านต้องปิดอากร 10 บาท

 

- กรณีที่ปิดอากรไม่ครบ

 

หากท่านปิดอากรเพียง 6 บาท ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ (10 - 6) X 6 เท่า = 24 บาท ( แต่เนื่องจากเงินเพิ่มอากรขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ 25 บาท ท่านจึงต้องเสียเงินเพิ่มอากร 25 บาท ) และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 4 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 25 = 29 บาท

 

แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ท่านจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเพียงร้อยละ 20 ของเงินเพิ่มอากร คือ 25 X 20% = 5 บาท

 

ดังนั้น ท่านต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรรวมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 5 = 9 บาท

 

- กรณีที่ไม่ปิดอากรเลย

 

หากท่านไม่ปิดอากรเลย ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ 10 X 6 เท่า = 60 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 10 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 60 + 10 = 70 บาท

 

แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ท่านจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเพียงร้อยละ 25 ของเงินเพิ่มอากร คือ 70 X 25% = 17.5 บาท

 

ดังนั้น ท่านต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรรวมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 70 + 17.5 = 87.5 บาท

 

การขอลดเงินเพิ่มตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 ( พ . ศ . 2512) นี้ อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้เสียเงินเพิ่มอากรน้อยกว่ากรณีที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นก็ได้ แต่ต้องกำหนดเงินเพิ่มให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินอากร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ต้องปิดอากร ดังนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า การขอลดเงินเพิ่มตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 ( พ . ศ . 2512) นั้น สามารถช่วยลดภาระในเงินเพิ่มดังกล่าวได้ แต่ต้องเป็นกรณีที่ท่านต้องมีหนังสือชี้แจงว่ามิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากรแต่แรก แต่เป็นความผิดพลาดของท่านเอง

 

ในบางกรณี หากมีเหตุอันสมควร อธิบดีกรมสรรพากรอาจเห็นชอบขยายกำหนดเวลาชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องชำระ เงินเพิ่มอากรแต่อย่างใด ตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ ดังแนวหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ดังต่อไปนี้

 

หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0706/6235 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548

 

ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เจ้าพนักงานของสำนักงานที่ดินมิได้เรียกเก็บอากรแสตมป์ นาย ก . จึงมิได้ชำระค่าอากรแสตมป์ในวันจดทะเบียน ต่อมาไปชำระค่าอากรแสตมป์โดยยื่นคำร้องของดเงินเพิ่ม เนื่องจากไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงชำระค่าอากรแสตมป์ กรณีจึงมีเหตุอันสมควรขยายกำหนดเวลาชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินให้ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอากรแต่อย่างใด ตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร

 

หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0706/1516 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547

 

สัญญาจ้างชาวต่างประเทศซึ่งสถาบันการศึกษาเป็นผู้ว่าจ้างเป็นสัญญาจ้างทำของที่ต้องเสียอากร โดยผู้รับจ้างเป็นผู้ปิดอากรแสตมป์ แต่เมื่อติดต่อผู้รับจ้างดังกล่าว กลับไม่ได้รับคำตอบและเงินค่าอากรแสตมป์ ผู้ทรงตราสารต้องถูกเรียกเก็บแทน แต่เนื่องจากสถาบันการศึกษาเป็นส่วนราชการและเป็นความผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระอากร จึงอนุมัติให้เสียเงินเพิ่มอากรร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากร โดยเริ่มนับแต่วันที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 3 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 ( พ . ศ . 2512) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์และอากรมหรสพ

 

แต่ทั้งนี้ มีข้อควรระวังอยู่ว่า ตราสารทุกประเภทไม่สามารถใช้วิธีปิดอากรย้อนหลังหรือปิดอากรได้ตลอดไป กฎหมายได้กำหนดให้ตราสารบางประเภทต้องชำระค่าอากรเป็นตัวเงิน จึงไม่มีทางเลี่ยงการเสียค่าอากรได้เลย ในตอนต่อไปผู้เขียนจะขอเลือกกล่าวถึงอากรแสตมป์บางประเภทที่สำคัญต่อผู้อ่านซึ่งต้องชำระเป็นตัวเงิน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบกัน ในตอน “อากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน”

 

 ----------------------------------------------------

1 ตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร

2 ตามมาตรา 113 2. ( ก ) แห่งประมวลรัษฎากร

3 ตามมาตรา 113 2. ( ข ) แห่งประมวลรัษฎากร

4 ตามมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา : เว็บไซต์ สำนักกฎหมายธรรมนิติ